เอกสารประกอบการบรรยาย กระบวนวิชา RAM 1302 (การเมืองและกฎหมายในชีวิตประจำวัน)
บรรยายโดย อ.ดร.กฤติธี ศรีเกตุ อ.ปิยภพ อเนกทวีกุล
ข้อสอบ ปรนัย 120 ข้อ

พัฒนาการและลักษณะทั่วไปของวิชารัฐศาสตร์และแนวทางการศึกษา

อะไรคือ “รัฐศาสตร์”, “Political Science”, “State Science”, “Politics”
        วิชา “รัฐศาสตร์” ถ้าพิจารณาจากชื่อภาษาไทยที่มักจะได้ยินกันอยู่บ่อยครั้ง ก็อาจจะคาดเดาได้ว่า คือ วิชาหรือความรู้ในทำนองที่น่าจะเกี่ยวข้องกับการศึกษา “รัฐ” (State) เพราะชื่อของวิชาก็แสดงให้เห็นอยู่แล้วว่า รัฐ+ศาสตร์ ซึ่งความเข้าใจลักษณะนี้ไม่ผิดแต่ก็ไม่ถูกเสียทั้งหมด เนื่องจากในความเป็นจริงวิชารัฐศาสตร์โดยเฉพาะในปัจจุบันนั้นมุ่งศึกษาเกี่ยวกับทุกสิ่งอย่างในแง่มุมที่เกี่ยวข้องกับการเมือง (Politics) และแน่นอนว่ารัฐก็เป็นหัวข้อหนึ่งที่สำคัญของการศึกษา แต่กระนั้นรัฐไม่ใช่ทั้งหมดที่รัฐศาสตร์ศึกษา ดังนั้น เราก็อาจจะสงสัยต่อไปอีกว่า ถ้ารัฐศาสตร์ คือ ศาสตร์ หรือ องค์ความรู้ที่มุ่งศึกษาสิ่งที่เรียกว่า “การเมือง” แล้วสิ่งที่เรียกว่า “การเมือง” คืออะไร
        สำหรับคำว่า “การเมือง” นั้น เป็นคำที่ถูกบัญญัติขึ้นมาจาก ภาษาอังกฤษคำว่า “Politics” ซึ่งภาษาอังกฤษคำนี้ได้มีที่มามาจากรากศัพท์ ภาษากรีก คือ “Politika” ซึ่งหมายถึง เรื่องราวหรือกิจการของ “Polis” (Affairs of the Cities)  สำหรับคำว่า “Polis” นี้บางคนก็แปลว่า “นครรัฐ” (City State) หรือ บางคนก็แปลว่า รัฐ หรือบางคนก็แปลว่า เมือง บางคนก็บอกว่า แปลเป็นไทยไม่ได้เพราะเป็นบริบทเฉพาะของกรีกโบราณ ดังนั้น ควรจะใช้ทับศัพท์ไปเลย ซึ่งก็สุดแล้วความเห็นของแต่ละคน อย่างไรก็ตาม “Polis” ตามความเข้าใจของผู้สอน ก็คือ หน่วยในการปกครอง ชุมชน หรือนครรัฐของพวกกรีกโบราณ (Ancient Greece) เช่น เอเธนส์ (Athens) ก็เป็น Polis หนึ่ง สปาร์ต้า (Sparta) ก็เป็น Polis หนึ่ง เป็นต้น  อนึ่ง สำหรับพวกกรีกโบราณเอง คำว่า “Politics” นั้นเป็นคำที่ใช้สื่อความหมายสะท้อนถึงสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับส่วนรวม หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คืออะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับเรื่องส่วนรวมเรื่องนั้นก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนทุกคนที่อยู่ใน Polis ด้วยเหตุนี้เองคำว่า การเมืองจึงเป็นเรื่องราวที่หมายถึง ส่วนรวม คนทุกคน เรื่องสาธารณะ ผลประโยชน์สาธารณะ (Public Interest) อันจะตรงกันข้ามกับเรื่องส่วนตัว ผลประโยชน์เฉพาะ (Private Interest)
        มีผู้ที่ได้พยายามนิยามคำว่าการเมืองให้แคบลง โดยให้คงเหลือแต่ปฏิสัมพันธ์กันระหว่างคนในแง่มุมของอำนาจเท่านั้น  วิธีคิดเช่นนี้ เป็นรากฐานของการศึกษาการเมืองสมัยใหม่ 
        มากไปกว่านั้น อาจจะมีนักรัฐศาสตร์ร่วมสมัยบางท่าน อย่างฮาโรลด์ ดี แลสเวลล์ (Harold D. Lasswell) และ เดวิด อีสตัน (David Easton) ซึ่งนักรัฐศาสตร์สองคนนี้ถือว่าเป็นนักรัฐศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ในวงการรัฐศาสตร์อเมริกัน และทั้งสองคนนี้เคยดำรงตำแหน่งเป็นประธานของสมาคมรัฐศาสตร์อเมริกัน (APSA-American Political Science Association) ซึ่งสมาคมดังกล่าวนี้ถือว่าเป็นแกนกลางหลักในการบุกเบิกและทำให้รัฐศาสตร์แบบอเมริกันสามารถแพร่กระจายไปทั่วโลก
        ทั้งสองนิยามการเมืองว่า เป็นเรื่องของการจัดการทรัพยากรหรือกระจายทรัพยากรให้กับสมาชิกในสังคม ดังที่แลสเวลล์ได้นิยามคำว่า “การเมือง” คือ “เรื่องของการที่ใครได้อะไร เมื่อไร และอย่างไร” (Politics is who gets what, when, and how)  ในขณะเดียวกัน เดวิด อีสตัน ก็ได้นิยามคำว่า การเมือง คือ การใช้อำนาจหน้าที่ในการจัดสรรแจกแจงสิ่งที่มีคุณค่าต่าง ๆ ให้แก่สังคม (Authoritative allocation of values to a society)  ด้วยเหตุนี้เองจะเห็นว่า ความหมายของการเมืองในด้านหนึ่งที่สำคัญตามความคิดของนักรัฐศาสตร์ในข้างต้น ก็คือ เรื่องของอำนาจในการกระจายทรัพยากร  แต่แม้ว่านักคิดจะให้ความหมายของการเมืองในลักษณะใดก็ตาม การเมืองก็ยังคงเกี่ยวพันอยู่กับสิ่งที่เรียกว่าอำนาจอยู่ไม่มากก็น้อย
        แล้วทำไมการศึกษาการเมืองในประเทศไทยถึงเรียกว่า “รัฐศาสตร์” ทำไมถึงไม่เรียกการเมืองศาสตร์ หรือ วิทยาศาสตร์การเมือง ทั้งที่ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Political Science 
        เกี่ยวกับเรื่องนี้ อาจจะอธิบายได้ดังนี้ว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ หรือ พระองค์วรรณฯ คือ คนไทยคนแรกที่สร้างศัพท์คำว่า “รัฐศาสตร์” ขึ้นมาในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 (อย่างช้าที่สุดที่ปรากฏหลักฐานจากการตีพิมพ์หนังสือการบัญญัติศัพท์คำดังกล่าว ก็คือ ก่อน พ.ศ. 2486)
        บุคคลแรกที่พยายามถ่ายคำมาเป็นภาษาไทยจากคำว่า “Political Science” ก็คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่หก) โดยพระองค์ได้แปลคำว่า Political Science เป็นภาษาไทยว่า “รัฐฏประศาสนศาสตร์” โดยมีความหมายว่า “การปกครอง (Government) 
        อย่างไรก็ดี คำว่า “รัฐฏประศาสนศาสตร์” ถูกใช้อยู่ระยะเวลาหนึ่ง จนกระทั่งในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 คำดังกล่าวจะไม่ได้รับความนิยมอีกต่อไปเพราะเกิดคำภาษาไทยคำใหม่ขึ้นมา คือ คำว่า “รัฐศาสตร์”
        การเข้าใจคำว่า Political Science ที่พระองค์วรรณฯ เข้าใจนั้น ก็คือ การศึกษาการเมืองแบบสถาบันทางการเมือง หรือการศึกษาการเมืองแบบโครงสร้าง (Institutional Approach) เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นเป็นช่วงเวลาที่โลกตะวันตกโดยเฉพาะยุโรปกำลังศึกษาการเมืองด้วยวิธีดังกล่าวเป็นหลัก โดยประเทศที่ถือว่าเป็นผู้นำและก้าวหน้าที่สุดในขณะนั้น ก็คือ เยอรมัน ที่เรียกการศึกษาการเมืองของตนว่า “Staatswissenschaft” (ศาสตร์แห่งรัฐ/รัฐศาสตร์ Staat = State / Wissenschaft = Knowledge) ซึ่งพระองค์วรรณฯ น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากคำดังกล่าวในภาษาเยอรมันด้วยไม่มากก็น้อย (สำหรับสาเหตุที่เยอรมันในสมัยนั้นเรียกการศึกษาการเมืองว่า “ศาสตร์แห่งรัฐ” (Knowledge of State/ State Science) แทนที่จะเรียกว่า “Political Science” จะอธิบายในหัวข้อต่อไปที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการของรัฐศาสตร์) จากที่กล่าวมาทั้งหมด พระองค์วรรณฯ จึงทรงแปลคำว่า Political Science เป็นภาษาไทยด้วยการถ่ายความหมายว่า รัฐศาสตร์ตามบริบทของการศึกษาในสมัยนั้น แทนที่จะแปลตรงตัวว่า “การเมืองศาสตร์” ตามศัพท์ภาษาอังกฤษ

พัฒนาการของรัฐศาสตร์
สามารถแบ่งออกเป็น 5 ยุค กว้าง ๆ โดยเรียงลำดับ ดังนี้ 
1. ยุคคลาสสิก (Classical Period)
ยุคนี้เป็นยุคแรกเริ่มและเป็นการศึกษาที่เก่าแก่ที่สุดของการศึกษาการเมือง ซึ่งเป้าหมายหลักของการศึกษา ก็คือ การเสนอแนะหลักปฏิบัติในการปกครองบ้านเมือง ไม่ใช่การศึกษาวิเคราะห์ สาเหตุของปรากฏการณ์ทางการเมือง (Prescriptive not  Descriptive or Predictive) วิธีการศึกษายุคนี้ เรียกว่า การศึกษาแนวปทัสถานนิยม หรือ บรรทัดฐานนิยม (Normative) โดยการศึกษานั้นผู้ศึกษาจะคิดวิเคราะห์ไตร่ตรองด้วยตนเองในเรื่องที่เกี่ยวกับการเมืองที่ควรจะเป็น ยกตัวอย่างเช่น การเมืองที่ดีควรจะเป็นอย่างไร ใครควรจะเป็นผู้ปกครอง เราต้องเชื่อฟังกฎหมายหรือไม่ เราต้องอยู่ในรัฐหรือไม่ เป็นต้น ซึ่งคนพวกนี้จะสามารถเรียกอีกอย่างได้ว่า “นักปรัชญาการเมือง” (Political Philosopher) เราจะพบเห็นการศึกษาการเมืองประเภทนี้ได้จากงานของพวกนักปรัชญาการเมืองโบราณ เช่น เพลโต (Plato) อริสโตเติ้ล (Aristotle) ส่วนนักปรัชญาการเมืองสมัยใหม่ ก็เช่น มาคิอาเวลลี (Machiavelli) โทมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes) จอห์น ล็อค (John Locke) รุสโซ (Rousseau)  เป็นต้น
        2. ยุคสถาบันนิยม (Institutional Period)
ยุคนี้เริ่มต้นในคริสต์ศตวรรษที่ 19 สาเหตุ ก็คือ แนวคิดเรื่องรัฐชาติ (Nation State)  หรือรัฐสมัยใหม่ (Modern State) ที่มีดินแดนอันมีขอบเขตแน่นอนชัดเจน เริ่มเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางในยุโรปแทนที่รัฐแบบดั้งเดิม จุดมุ่งหมายหลักของการศึกษาการเมืองในยุคนี้คือ เน้นศึกษา “รัฐ” ซึ่งอย่างที่ทราบว่ารัฐ คือ สิ่งที่เป็นนามธรรมไม่สามารถจับต้องได้แต่นักรัฐศาสตร์ก็ยังคงต้องการที่จะศึกษา ด้วยเหตุนี้เอง นักรัฐศาสตร์จึงเลือกศึกษาสถาบันที่เป็นทางการของรัฐ (Formal Institutions) เพราะเชื่อว่าสถาบันทางการเมืองที่ประกอบกันขึ้นเป็นรัฐนั้น จะสามารถสะท้อนความเป็นจริงของรัฐ ตลอดจนสามารถที่จะเข้าใจพฤติกรรมของผู้คนในรัฐนั้นได้มากกว่าการศึกษาแบบปรัชญาการเมืองที่เป็นเรื่องของความเห็นของนักคิดแต่ละคน โดยสถาบันอันเป็นทางการที่ว่านี้ ก็ได้แก่ รัฐธรรมนูญ (Constitution) กฎหมายมหาชน (Public Law) รัฐสภา (Parliament) ฝ่ายนิติบัญญัติ (Legislative) ฝ่ายบริหาร (Administrative)
การศึกษาในยุคนี้บางคนเรียกว่า “การศึกษาแบบการปกครองเปรียบเทียบ” (Comparative Government) สำหรับตัวอย่างงานต้นแบบของการศึกษาประเภทนี้ ก็เช่น งานของมงเตสกิเออร์ (Montesquieu) เรื่อง “The Spirit of Law” (จิตวิญญาณแห่งกฎหมายเขียนขึ้นในช่วง ค.ศ. 1748 , งานของอเล็กซิส เดอ ต๊อกเกอร์วิลล์ (Alexis de Tocqueville) เรื่องประชาธิปไตยในอเมริกา (Democracy in America) เขียนขึ้นช่วง ค.ศ. 1835-1840 เป็นต้น
        3. ยุคเปลี่ยนผ่านสู่รัฐศาสตร์สมัยใหม่ (The Transitional Period)
ยุคของการศึกษาในลักษณะนี้เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่จบสิ้นลงด้วยการที่สหรัฐอเมริกาชนะสงครามและเริ่มกลายเป็นมหาอำนาจ การศึกษารัฐศาสตร์แบบอเมริกันก็เริ่มก่อตัวขึ้นดังจะเห็นได้จากมีการก่อตั้ง สมาคมรัฐศาสตร์อเมริกัน (American Political Science Association--APSA ในปี ค.ศ. 1908)  โดยนักรัฐศาสตร์อเมริกันมองว่า วิธีการศึกษาแบบดั้งเดิม ไม่สามารถสะท้อนความเป็นจริงออกมาได้ ดังนั้น รัฐศาสตร์ควรจะเปลี่ยนมาศึกษาถึงสิ่งที่สามารถจะสะท้อนความเป็นจริงทางการเมืองที่มากกว่า นั่นก็คือ การศึกษาพฤติกรรมทางการเมืองของมนุษย์ (Political Behavior) เช่น การเลือกตั้ง การประท้วง การหาเสียง การลงคะแนน เป็นต้น มากไปกว่านั้น นักรัฐศาสตร์อเมริกาพยายามที่จะเอาวิธีการทางวิทยาศาสตร์มาใช้ในการศึกษาการเมือง โดยสถาบัน การศึกษาที่เป็นศูนย์กลางของการศึกษาในลักษณะนี้ ก็คือ มหาวิทยาลัยชิคาโก (Chicago University) ที่มลรัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ดี ยุคนี้คือ ยุคเปลี่ยนผ่าน วิธีการศึกษาแบบเก่า คือ สถาบันนิยม ยังคงมีอิทธิพลอยู่ เพียงแต่เริ่มมีการท้าทายจากวิธีการศึกษาแบบอเมริกัน 
สำหรับแนวการศึกษาที่สำคัญในยุคนี้ก็เช่นงานของ อาเธอร์ เบนเล่ย์ (Arthur F. Bentley) เรื่อง The Process of Government ตีพิมพ์ปี ค.ศ. 1908 นักรัฐศาสตร์อเมริกันอีกคนหนึ่งที่ชื่อว่า ชาร์ลส์ เอ็ดเวิร์ด เมอร์เลี่ยม (Charles Edward Merriam) โดยเขานั้นเป็นผู้บุกเบิกคนสำคัญในยุคนี้โดยมีการนำวิธีการแบบใหม่ ๆ ในสาขาสังคมศาสตร์อื่น ๆ มาใช้ในการศึกษาการเมือง เช่น การนำจิตวิทยามาใช้ในการศึกษาการเมือง ตลอดจนมีการนำวิธีการแบบวิทยาศาสตร์ เช่น การใช้สถิติ ข้อมูลเชิงประจักษ์มาศึกษา
        4. ยุคพฤติกรรมศาสตร์ (The Behavioral Period)
ยุคนี้เริ่มปรากฏขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และได้รับความนิยมสูงสุดในช่วง ทศวรรษ1950-1960 กล่าวคือ ในช่วงที่สหรัฐอเมริกาชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 และโลกได้เข้าสู่ยุคสงครามเย็น (Cold War : ค.ศ. 1947-1991) สหรัฐอเมริกาได้กลายมาเป็นมหาอำนาจเต็มตัว และพยายามที่จะไปมีอิทธิพลในทุก ๆ เรื่องไม่ว่าจะเป็นการทหาร การเมืองระหว่างประเทศ วัฒนธรรม ไม่เว้นแม้แต่การศึกษารัฐศาสตร์ โดยในยุคนี้ นักรัฐศาสตร์แบบอเมริกันมองว่า การศึกษาการเมืองจำต้องใช้วิธีการแบบวิทยาศาสตร์ในการหาความรู้ (Scientific Method) 
หน่วยในการวิเคราะห์ทางการเมืองอยู่ที่พฤติกรรมของมนุษย์เพราะเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนแน่นอน (Empirical) บางครั้งการศึกษาในลักษณะนี้จึงถูกเรียกว่า “ปฏิฐานนิยม” (Positivism)  มากไปกว่านั้น การศึกษาในยุคนี้ยังเน้นการทำนายพฤติกรรมทางการเมือง การตัดสินใจในทางการเมือง ด้วยเหตุนี้การศึกษาในยุคนี้จึงเป็นการศึกษาแบบมุ่งทำนาย (Predictive) ไม่เน้นพรรณนาบรรยายอย่างในยุคก่อนหน้า ในยุคนี้รัฐศาสตร์ถูกเรียกว่า “วิทยาศาสตร์การเมือง” (Political Science) เพราะต้องการเน้นย้ำให้เห็นว่า เป็นการศึกษาการเมืองด้วยวิธีการแบบวิทยาศาสตร์ ซึ่งรูปแบบความเชื่อในลักษณะนี้ได้กลายมาเป็นความเชื่อกระแสหลักจนถึงปัจจุบัน
        5. ยุคหลังพฤติกรรมศาสตร์ (The Post Behavioral Period)
ยุคนี้ คือช่วงเวลาตั้งแต่ช่วง ค.ศ. 1970 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน การศึกษาในยุคนี้จึงไม่มีกระแสหลักที่ครอบงำการศึกษา กล่าวอีกนัยหนึ่ง ก็คือ ในยุคนี้ เป็นยุคแห่งการกลับมาของการศึกษาแบบเดิมที่ถูกละทิ้งและไม่ให้ความสนใจจากการพยายามครอบงำของพวกนักพฤติกรรมศาสตร์ การศึกษาแบบปรัชญาการเมือง การศึกษาแบบสถาบัน การศึกษาเชิงโครงสร้าง จึงได้เริ่มกลับมาได้รับความสนใจและทำการศึกษากันอีกครั้งหนึ่ง (นักวิชาการบางคนไม่เรียกว่า ยุคหลังพฤติกรรมศาสตร์ (Post  Behavioral Period) แต่จะเรียกว่า “ยุคย้อนกลับแห่งการศึกษาการเมืองแบบยุโรป” (Period of Re-Europeanization) เนื่องจากการศึกษาแบบปรัชญาการเมือง และการศึกษาแบบสถาบันนิยมนั้นเป็นวิธีการศึกษาแบบของพวกยุโรป)   อย่างไรก็ตาม ในยุคนี้การศึกษาแบบพฤติกรรมศาสตร์ก็ยังคงมีการศึกษากันอยู่ เพียงแต่ไม่ได้เป็นแนวทางหลักเพียงแนวทางเดียวเหมือนเมื่อยุคก่อนหน้า
        ในปัจจุบัน องค์ความรู้ที่เรียกว่า “รัฐศาสตร์” (Political Science) สามารถแบ่งออกอย่างกว้าง ๆ เป็นสาขาความรู้ย่อย ๆ ประเภทต่าง ๆ (Subfield) ได้ดังนี้ 
(1) ทฤษฎีการเมือง (Political Theory) หรือ ปรัชญาการเมือง (Political Philosophy) 
(2) การเมืองเปรียบเทียบ (Comparative Politics) ในสาขาความรู้นี้อาจจะรวมสิ่งที่เรียกว่า ประวัติศาสตร์การเมือง (Political History) เข้าไปอยู่ในสาขาย่อยสาขานี้ด้วย 
(3) รัฐประศาสนศาสตร์ หรือ การบริหารภาครัฐ (Public Administration) 
(4) ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (International Relations) จากองค์ความรู้ดังกล่าวนี้ในประเทศไทย มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่เปิดสอนรัฐศาสตร์ได้นำไปแบ่งเป็นภาควิชา 3 ภาคหรือ 3 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่ ภาควิชาการปกครอง (Government) ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (International Relations) ภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ หรือ การบริหารภาครัฐ (Public Administration) ซึ่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงที่ก่อตั้งคณะมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 ก็ได้ใช้หลักการข้างต้นเช่นเดียวกันในแบ่งกลุ่มวิชาเพื่อจัดการเรียนการสอน

พัฒนาการของวิชารัฐศาสตร์ในประเทศไทย

        สำหรับในประเทศไทย รัฐศาสตร์นั้นเริ่มปรากฏตัวครั้งแรกในช่วงรัชกาลที่ 5 ด้วยบริบทที่ว่า ในช่วงรัชกาลนี้ สยาม หรือ ประเทศไทยได้พยายามรวมศูนย์อำนาจเข้าที่ส่วนกลาง และเมื่อมีการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง สยามก็จำเป็นที่จะต้องกระชับอำนาจจากดินแดนต่าง ๆ ด้วยการส่งคนไปปกครองตามที่ต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้เอง กระทรวงมหาดไทยจึงจำเป็นที่จะต้องผลิตคนขึ้นมาเพื่อส่งไปปกครองตามหัวเมืองต่าง ๆ ด้วยการตั้งโรงเรียนขึ้นภายในกระทรวง สำหรับการสอนวิชาการปกครองในช่วงแรกนี้ยังเป็นไปในลักษณะที่ไม่ใช่วิชาการเมือง แต่เป็นไปในรูปของวิชาเสมียน วิธีการสอบสวนคดีอาญา การแต่งคำร้อง หรือตรวจสอบอรรถคดีต่าง ๆ แต่อย่างไรก็ตาม โรงเรียนที่ผลิตข้าราชการพลเรือนของกระทรวงมหาดไทยก็ยังไม่สามารถผลิตข้าราชการได้เพียงพอ
ในปี พ.ศ. 2442 รัชกาลที่ 5 จึงมีการจัดตั้งโรงเรียนฝึกอบรมราชการ แยกออกมาจากกระทรวงมหาดไทยเป็นกิจจะลักษณะ โดยตั้งชื่อว่า “สำนักสำหรับฝึกหัดข้าราชการฝ่ายพลเรือน” และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนมหาดเล็ก ในปี พ.ศ. 2445 วิชาที่ศึกษาในโรงเรียนดังกล่าวนี้ ก็ไม่แตกต่างกับโรงเรียนของกระทรวงมหาดไทยมากนัก ตัวอย่างวิชาที่เรียน ก็ได้แก่ วิชาเสมียน คัดลายมือ พิมพ์ดีด อ่านทาน วิธีการแต่งหนังสือ การตำรวจภูธร แผนที่ ภูมิศาสตร์ กริยามารยาทใน ราชสำนัก ราชาศัพท์ โดยใช้เวลาเรียน 3 ปี และเมื่อสำเร็จแล้วจะได้ประกาศนียบัตรรับรอง และปีสุดท้ายถ้าอยากรับราชการก็ต้องไปฝึกงานกับกระทรวงที่อยากเข้ารับราชการ ในกรณีที่ต้องการทำงานในกระทรวงมหาดไทย ผู้เรียนก็จำต้องไปฝึกงานตามหัวเมือง
        ในปี พ.ศ. 2453 รัชกาลที่ 6 พระองค์ทรงยกฐานะของโรงเรียนมหาดเล็กให้เป็น “โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” โดยโรงเรียนดังกล่าวนี้ได้ทรงโปรดเกล้าฯให้รวมเอาโรงเรียนแพทย์ โรงเรียนฝึกหัดครู โรงเรียนกฎหมาย เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนเดียวกันเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำหรับโรงเรียนวิชาการปกครอง พระองค์ก็ทรงตั้งชื่อว่า “โรงเรียนรัฏฐประศาสนศึกษา” โดยทรงขยายเวลาเรียนจากเดิม 3 ปี ให้เป็น 4 ปี ผู้จบส่วนใหญ่จะเข้ารับราชการที่กระทรวงมหาดไทย 
ต่อมาในปี พ.ศ. 2459 ทรงยกโรงเรียนข้าราชการพลเรือนดังกล่าวนี้เป็น “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” โดย  “โรงเรียนรัฏฐประศาสนศึกษา” ก็เปลี่ยนชื่อมาเป็น “คณะรัฐประศาสนศาสตร์” และการเรียนการปกครองในช่วงเวลานั้นก็ยังคงมีหลักสูตรการสอนเพื่อผลิตข้าราชการออกไปปกครองหัวเมืองเหมือนดังการตั้งโรงเรียนมหาดเล็ก สำหรับการเรียนการสอนรัฐศาสตร์ในช่วงแรกของไทยนั้น มีจุดมุ่งหมายเพื่อผลิตข้าราชการ ไม่ใช่ตั้งขึ้นมาเพื่อให้ประชาชนหาความรู้ทางการเมือง หรือ สอนวิชาเพื่อทำความเข้าใจการเมืองแต่อย่างไร
        ในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 คณะราษฎร ซึ่งนำโดยนายปรีดี พนมยงค์ ก็ได้ก่อตั้ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขึ้นในปี พ.ศ. 2477 ตามเจตนารมณ์ของคณะราษฎรที่จะให้การศึกษาแก่ประชาชนทั่วไป โดยหลักสูตรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้นมีความแตกต่างกับของจุฬาฯ ก็คือ มีการเน้นหนักในด้านกฎหมาย และเพิ่มวิชาเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์เข้าไปด้วย จุดสังเกต ก็คือ การเรียนการสอนในธรรมศาสตร์นี้ รัฐศาสตร์ไม่ได้มีขึ้นเพื่อผลิตราชการแต่เพียงอย่างเดียว แต่มุ่งให้ความรู้กับประชาชนด้วย อย่างไรก็ดี แนวทางการสอนวิชารัฐศาสตร์ของธรรมศาสตร์ในยุคแรกยังได้รับอิทธิพลมาจากยุโรปในแนวสถาบันนิยม (Institutionalism/ Legal and Institutional approach) เพราะวิชาที่สอนจะเน้นในเรื่อง โครงสร้างของรัฐ รูปแบบการปกครองรัฐ สิทธิหน้าที่ของพลเมือง พรรคการเมือง
รัฐศาสตร์ในไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่ง ก็คือ ในช่วงหลังปี พ.ศ. 2490 (หลังสงครามโลกครั้งที่ 2) ประเทศไทยได้เริ่มเปลี่ยนแปลงแนวทางการศึกษาจากแบบยุโรปมาเป็นการศึกษาในแบบอเมริกัน เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า ประเทศไทยได้เริ่มเอาตัวเข้าไปผูกพันกับอเมริกาตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ตลอดจนประเทศไทยได้รับเงินช่วยเหลือสนับสนุนทางการศึกษาจากอเมริกาเป็นจำนวนมาก ทั้งในแง่ของการให้ทุนการศึกษาไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา และการส่งผู้เชี่ยวชาญอาจารย์จากอเมริกามาสอนที่คณะรัฐศาสตร์ในประเทศไทย โดยบุคคลเหล่านี้ก็ได้มาร่างหลังสูตรการเรียนการสอนในประเทศไทยให้เป็นแบบอเมริกัน 
สำหรับรูปแบบการเรียนการสอนของรัฐศาสตร์ในยุคนี้มีการเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ คือ วิชาประเภทเลขานุการ วิชาสำหรับเสมียน ก็ได้ถูกแทนที่เข้าด้วยวิชาการวิเคราะห์ทางการเมือง เช่น วิชาการบริหารท้องถิ่นเปรียบเทียบก็ได้ถูกนำเข้ามาแทนวิชาการปกครองท้องที่ และที่เด่นชัดที่สุดสำหรับการเรียนการสอนในยุคนี้ ก็คือ รัฐศาสตร์จากที่แต่เดิม เป็น วิชาประเภทการศึกษาโครงสร้างสถาบันทางการเมือง ก็เริ่มเปลี่ยนเป็นการศึกษาแบบวิทยาศาสตร์แบบอเมริกัน และการเรียนการสอนในลักษณะนี้ก็ดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลานั้นคนที่เข้ามาเรียนรัฐศาสตร์ก็มีจุดมุ่งหมายเพื่อจะจบออกไปแล้วสอบเข้าบรรจุเป็นข้าราชการ
ในช่วงทศวรรษ 2520 พัฒนาการของวิชารัฐศาสตร์ก็ได้เริ่มเปลี่ยนแปลงในด้านทิศทางอีกครั้งหนึ่ง กล่าวคือ ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้เอง บทบาทของรัฐได้เริ่มลดลง และมีการขยายตัวทางด้านเอกชนมากขึ้น อันเป็นผลมาจากการเติบโตของระบบทุนนิยมของโลก ตลอดจนกระแสแนวคิดแบบเสรีนิยมใหม่ (Neo-Liberalism) ที่มองว่ารัฐควรจะลดบทบาทของตัวเองลง โดยเฉพาะหน้าที่ในด้านต่าง ๆ ที่แต่เดิมรัฐเป็นผู้แบกภาระไว้เกือบทั้งหมด 
ด้วยเหตุนี้ ระบบราชการจึงมีการหดตัวลง จึงส่งผลให้ความต้องการในด้านกำลังคนที่จะเข้าสู่ระบบราชการมีจำนวนลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งก็รวมถึงกระทรวงมหาดไทย กระทรวงต่างประเทศ และ หน่วยงานทางด้านการปกครองต่าง ๆ 
การเรียนการสอนรัฐศาสตร์จึงมีการเปลี่ยนแปลงไปจากที่แต่เดิมเน้นการผลิตคนให้เข้าไปทำงานในระบบราชการก็เปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนรัฐศาสตร์ เพื่อรัฐศาสตร์ หรือ เพื่อสังคม เน้นการผลิตพลเมืองที่ดีให้กับรัฐ  เน้นการพัฒนาความรู้ในองค์ความรู้ทางด้านรัฐศาสตร์ สำหรับตัววิชาการสอนในยุคนี้ รัฐศาสตร์ได้มีแนวทางที่หลากหลายกว่าในช่วงเวลา พ.ศ. 2490 จนถึงก่อน ทศวรรษ 2520 เนื่องจากตั้งแต่ทศวรรษนี้ เป็นต้นมา อาจารย์หรือผู้สอนก็ได้ไปรับวิธีคิดการสอนในแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นจากยุโรป และอเมริกา โดยนำมาพัฒนาและประยุกต์เข้ากับการสอนรัฐศาสตร์ในประเทศไทย แต่กระนั้นกระแสหลักที่เป็นแนวทางสำหรับสร้างหลักสูตรของรัฐศาสตร์ในปัจจุบันก็ยังคงเป็นแบบอเมริกันอยู่ไม่มากก็น้อย ซึ่งทิศทางดังกล่าวนี้ก็สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
-----------------------------------