สถาบันทางการเมืองในรัฐสมัยใหม่
ความหมายของสถาบันทางการเมือง
สถาบันทางการเมือง (Political Institution) นับว่าเป็นกลไกสำคัญของรัฐสมัยใหม่ (Modern State) การที่รัฐสมัยใหม่สามารถมีอำนาจในการปกครองหรือบังคับให้เป็นไปตามกฎหมายนั้น จะต้องมีกลไกต่าง ๆ รองรับการใช้อำนาจ กลไกดังกล่าว คือ สถาบันทางการเมือง
สถาบันทางการเมือง คือ แบบแผนของพฤติกรรมหรือการกระทำทางการเมือง ซึ่งถูกสร้างวางระเบียบกฎเกณฑ์ บรรทัดฐานและกระบวนการต่าง ๆ โดยมีโครงสร้างและองค์การทางการเมืองที่กำหนดรูปแบบวิธีการในการประพฤติปฏิบัติ หรือกระทำการทางการเมือง และมีปฏิสัมพันธ์หรือการกระทำที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางการเมืองของบุคคลในสังคม
ลักษณะโดยทั่วไปของสถาบันทางการเมือง
1. สถาบันทางการเมืองต้องมีแบบแผนในการจัดตั้ง ให้การยอมรับในพฤติกรรมทั้งหลายซึ่งรวมถึงกฎเกณฑ์ บรรทัดฐาน และกระบวนการต่าง ๆ
2. สถาบันทางการเมืองต้องมีโครงสร้างและองค์กรทางการเมืองที่กำหนดรูปแบบและวิธีการในการประพฤติปฏิบัติหรือกระทำกิจกรรมทางการเมือง
3. สถาบันทางการเมืองจะต้องมีปฏิสัมพันธ์ หรือการกระทำที่เกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมือง หรือการมีส่วนร่วมทางการเมืองของบุคคล กลุ่ม สมาคมหรือสังคมทั้งสังคม
สถาบันทางการเมืองในรัฐสมัยใหม่ที่สำคัญ ได้แก่ รัฐธรรมนูญ สถาบันนิติบัญญัติ สถาบันบริหาร สถาบันตุลาการ พรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ และการเลือกตั้ง สาเหตุที่เลือกตัวอย่าง สถาบันทางการเมืองดังกล่าวมาอธิบายเนื่องจากมีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อรัฐ และการเมืองภายในรัฐ
สถาบันทางการเมืองในรัฐสมัยใหม่
รัฐธรรมนูญ (Constitution)
รัฐธรรมนูญ คือ กฎหมายที่มีลำดับขั้นสูงสุดของประเทศ และเป็นกฎหมายที่วางกฎเกณฑ์เกี่ยวกับโครงสร้างทางการเมืองของรัฐนั้น ๆ และรัฐธรรมนูญนี้เองเป็นสิ่งที่ให้อำนาจกับกฎหมายในชั้นรอง ๆ ต่อไป และกฎหมายอื่นใดก็ไม่สามารถที่จะขัดกับสิ่งที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญได้ อย่างไรก็ดี ตัวรัฐธรรมนูญนั้นอาจจะมีที่มาจากวิวัฒนาการของพฤติกรรมทางการเมืองของคนในรัฐนั้น ๆ ก็ได้ หรือาจจะมาจากการให้โดยประมุขของรัฐ หรือ มาจากการเขียนขึ้นโดยคณะรัฐประหาร หรือ คณะปฏิวัติ ตลอดจนรัฐธรรมนูญอาจจะมีที่มาจาก ประเทศที่รบชนะแล้วเขียนขึ้นให้ก็ได้
เหตุผลสำคัญที่ต้องมีรัฐธรรมนูญ เมื่อสังคมต้องการระเบียบกฎเกณฑ์ สังคมต้องการกฎหมาย ซึ่งมีสังคมที่ไหนที่นั่นมีกฎหมาย แสดงถึงการแบ่งแยกกันไม่ได้ของกฎเกณฑ์ในการปกครองสังคม และหากระเบียบกฎเกณฑ์นั้นเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับการปกครองสังคมในระดับที่สูง เช่น รัฐหรือประเทศ กฎเกณฑ์ดังกล่าวก็คือ รัฐธรรมนูญ
ความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญนั้น ทำให้เกิดผลสำคัญ 2 ประการ คือ
1. กฎหมายใดแย้งหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญกฎหมายนั้นเป็นโมฆะ
2. การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (Constitutional Amendment) ทำได้ยากกว่ากฎหมายธรรมดา เพราะรัฐธรรมนูญถือเป็นกติกาสูงสุดในการปกครองรัฐ
ประเภทของรัฐธรรมนูญ
1. รัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร (Codified Constitution) มีการเขียนเนื้อหาเป็นลายลักษณ์อักษรเรียงตามมาตราตามหมวดของรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน โดยรัฐธรรมนูญประเภทนี้จะมีการแบ่งโครงสร้างของเนื้อหาออกเป็น อารัมภบท หรือ ข้อความเกริ่นนำของที่มาแห่งรัฐธรรมนูญ โครงสร้างในการปกครอง โครงสร้างของรัฐบาล การแบ่งอำนาจตลอดจนกำหนดหน่วยงานหรือบุคคลที่เป็นผู้ใช้ สิทธิของพลเมือง การตีความรัฐธรรมนูญ และวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เกิดขึ้นครั้งแรกที่สหรัฐอเมริกา
2. รัฐธรรมนูญไม่เป็นลายลักษณ์อักษร (Uncodified Constitution) ไม่ได้รวมเข้ากันเป็นเล่ม เป็นฉบับเดียวรวดเหมือนกับรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร แต่รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรนี้จะเป็นการยึดถือเอกสารทางประวัติศาสตร์สำคัญ ๆ ของรัฐ ตลอดจนธรรมเนียม จารีต ที่เคยปฏิบัติกันมาของคนในรัฐมาเป็นกฎหมายสูงสุดในการดำเนินการทางการเมือง เกิดขึ้นครั้งแรกที่อังกฤษ
สถาบันนิติบัญญัติ (Legislative)
สถาบันนิติบัญญัติ คือ สถาบันที่เป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยในด้านการออกกฎหมายซึ่งเป็นหน้าที่หลัก ส่วนหน้าที่รองของสถาบันนี้ก็คือ ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ทำหน้าที่แทนประชาชนในด้านต่าง ๆ สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ สถาบันนิติบัญญัติแบบสภาเดียว (Unicameral) และสถาบันนิติบัญญัติแบบสภาคู่ (Bicameral)
1. สถาบันนิติบัญญัติแบบสภาเดียว (Unicameral) กระบวนการในการออกกฎหมายนั้นไม่ต้องมีสภาอื่นมาทำหน้าที่ในการคัดกรองหรือตรวจสอบอีกชั้นหนึ่ง การทำงานของสถาบันนิติบัญญัติมีความสลับซับซ้อนในทางกระบวนการนิติบัญญัติน้อยกว่าระบบสภาคู่ ทำให้สามารถออกกฎหมายได้อย่างรวดเร็ว
2. สถาบันนิติบัญญัติแบบสภาคู่ (Bicameral) คู่ ประกอบด้วยสองสภา สภาแรกเป็นสภาที่ประกอบไปด้วยตัวแทนจากประชาชนทั่วไป ส่วนสภาที่สองจะมีสมาชิกที่มีคุณสมบัติพิเศษเช่น มีอายุมาก มีประสบการณ์มาก เป็นต้น
สถาบันบริหาร (Executive)
สถาบันบริหาร คือ สถาบันที่ใช้อำนาจอธิปไตยในด้านการนำกฎหมายไปปฏิบัติ ตลอดจนมีหน้าที่ออกกฎหมายบางประเภทอีกด้วย แต่กระนั้นก็ขึ้นอยู่กับระบบการเมือง หรือ การกำหนดอำนาจหน้าที่ไว้ตามรัฐธรรมนูญ สถาบันบริหารมีอำนาจหน้าที่สำคัญ ได้แก่ การบังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย การสร้างและดำเนินนโยบาย การควบคุมกำลังทหาร และการดำเนินความสัมพันธ์กับนานาประเทศ
อังกฤษ สถาบันการเมืองหลักในการปกครองยังคงมีการบริหารงานภาครัฐในนามของกษัตริย์แต่อำนาจบริหารอย่างแท้จริงนั้นอยู่ที่คณะรัฐมนตรี (Cabinet)
สหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีทำหน้าที่ประมุขของรัฐ (Head of State) และหัวหน้าฝ่ายบริหาร (Chief of Executive) ในเวลาเดียวกัน (Titular power) ดังนั้นกิจการบริหารงานภาครัฐจึงกระทำในนามของประธานาธิบดีซึ่งมีอำนาจทั้งในทางแบบพิธีการ และในทางที่เป็นจริง
ฝรั่งเศส คณะรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้อำนาจบริหาร แต่กระทำในนามของประมุขของรัฐ คือ ประธานาธิบดีซึ่งกรณีของประเทศฝรั่งเศสนั้นประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
ปัจจุบันรูปแบบของสถาบันบริหารสามารถแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ ฝ่ายบริหารแต่ในนาม (Nominal Executive หรือ De jure) และฝ่ายบริหารอย่างแท้จริง (Real Executive หรือ De facto)
1. ฝ่ายบริหารแต่ในนาม (Nominal Executive หรือ De jure) ฝ่ายบริหารแต่ในนาม คือ บรรดาประมุขของประเทศที่ทำหน้าที่ในทางแบบพิธี (Ceremonial Functions) เช่น สมเด็จพระบรมราชินีเอลิซาเบ็ธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร สมเด็จพระราชาธิบดีเฟลิเปที่ 6 แห่งสเปน ประธานาธิบดีของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และประธานาธิบดีของสาธารณรัฐอินเดีย เป็นต้น ซึ่งประมุขของรัฐเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์แห่งการรวมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาติ
2. ฝ่ายบริหารบริหารอย่างแท้จริง (Real Executive หรือ De facto) แบบประธานาธิบดี แบบคณะรัฐมนตรี แบบคณะรัฐมนตรีของฝรั่งเศส แบบสวิสส์ และแบบเผด็จการ
สถาบันตุลาการ (Judicial)
สถาบันตุลาการ คือ สถาบันผู้ใช้อำนาจอธิปไตยในการตัดสินคดีความต่าง ๆ ตลอดจนมีอำนาจหน้าที่ในการคุ้มครองเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ตลอดจนมีอำนาจในการตีความและตัดสินว่าฝ่ายนิติบัญญัติ หรือ ฝ่ายบริหารนั้นมีพฤติกรรมผิดแผกออกไปจากรัฐธรรมนูญหรือไม่ มากไปกว่านั้น ในบางกรณีคำพิพากษาของศาลอาจจะกลายมาเป็นกฎหมายได้
ปัจจุบันการจัดระบบสถาบันตุลาการสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ระบบศาลเดียว (Single System of Justice) และ ระบบศาลคู่ (Dual System of Justice)
1 ระบบศาลเดียว (Single System of Justice) กระบวนการตัดสินคดีความของประชาชนจะใช้ระบบเดียวกัน คือ ศาลยุติธรรม
2. ระบบศาลคู่ (Dual System of Justice) แบ่งศาลออกเป็นสองลักษณะ คือ ระบบศาลยุติธรรม สำหรับตัดสินคดีข้อพิพาทระหว่างเอกชนตามกฎหมายเอกชน กับระบบศาลปกครอง ทำหน้าที่ตัดสินคดีความระหว่างเอกชนกับรัฐหรือหน่วยงานของรัฐด้วยกัน
พรรคการเมือง (Political Party)
พรรคการเมืองเป็นสถาบันทางการเมืองแบบหนึ่งที่สำคัญไม่ว่าในระบบการเมืองใด ๆ ก็ตาม เพราะพรรคการเมืองนั้นจะเป็นกลุ่มคนที่มีความเชื่อความคิดบางอย่าง และนำแนวทางที่กลุ่มตนเชื่อนั้นไปทำให้เกิดสิ่งที่รูปธรรมขึ้น พรรคการเมืองมีลักษณะสำคัญ ดังนี้
1. พรรคการเมือง ต้องประกอบด้วย ปัจเจกชนที่มารวมเป็นกลุ่มไม่ใช่มีอยู่เพียงคนเดียว
2. การรวมตัวกันของสมาชิกเกิดขึ้นโดยมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่เหมือนหรือคล้ายกันเป็นหลักยึด เช่น บุคคลที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบเสรีนิยมก็จะมารวมกลุ่มกันเป็นพรรคเสรีนิยม เป็นต้น
3. การรวมกันของปัจเจกชนเป็นกลุ่มนี้เกิดขึ้นโดยสมัครใจ ไม่ใช่การบังคับขู่เข็ญให้มารวมกัน
4. กลุ่มของปัจเจกชนที่จะเรียกว่า พรรคการเมืองได้นั้นต้องมุ่งใช้พลังของกลุ่มเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ร่วมกัน
5. พรรคการเมืองมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการเป็นรัฐบาล
ระบบของพรรคการเมือง
1. ระบบพรรคเดียว (One-Party System) มีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวที่ถูกต้องตามกฎหมายในรัฐธรรมนูญ และเป็นเพียงพรรคการเมืองเดียวที่มีบทบาทอยู่ในวงการการเมืองทำให้พรรคการเมืองอื่นไม่สามารถมีสิทธิทางการเมือง
2. ระบบสองพรรค (Two-Party System) ไม่ได้หมายความว่าในประเทศนั้นจะมีพรรคการเมืองเพียงแค่สองพรรค ตรงกันข้ามประชาชนในระบบสองพรรคกลับมีเสรีภาพที่จะจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาแข่งขันกันได้อย่างเสรี เพียงแต่ว่า ในพรรคการเมืองที่หลากหลายนั้นจะมีเพียงสองพรรคเท่านั้นที่มีบทบาทและแย่งชิงอำนาจกันและมีเพียงพรรคการเมืองเดียวที่ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งอย่างเป็นเสียงข้างมากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว ส่วนพรรคใหญ่อีกพรรคหนึ่งก็จะกลายเป็นพรรคฝ่ายค้านไปโดยปริยาย ระบบสองพรรคทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพเกิดความมั่นคงและต่อเนื่องในการบริหารประเทศ
3. ระบบหลายพรรค (Multi-Party System) ระบบนี้จะมีพรรคการเมืองหลายพรรคและภายหลังการเลือกตั้งจะไม่มีพรรคการเมืองใดที่ได้ครองเสียงมากพอที่จะตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ จึงต้องร่วมกับพรรคการเมือง อื่น ๆ จัดตั้งรัฐบาลผสม การเป็นรัฐบาลผสมทำให้รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพในการบริหารบ้านเมืองและเกิดการยุบสภาฯ บ่อยครั้ง แต่ก็มีข้อดีตรงที่ประชาชนสามารถที่จะเลือกพรรคที่มีแนวนโยบายตรงตามความต้องการของตนได้จริง ๆ
4 ระบบพรรคเด่นพรรคเดียว (One-Party Dominant System) ระบบนี้จะมีพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งจะมีอำนาจและความได้เปรียบทางการเมืองเด็ดขาด จนมีลักษณะการผูกขาดการเป็นรัฐบาล แม้ว่าในการเลือกตั้งทุกครั้งจะมีพรรคการเมืองลงแข่งขันหลายพรรคก็ตาม
กลุ่มผลประโยชน์ (Interest Groups)
กลุ่มผลประโยชน์เป็นสถาบันทางการเมืองอีกรูปแบบหนึ่ง กลุ่มผลประโยชน์มีบทบาทสำคัญมากต่อระบบการเมืองไม่น้อยไปกว่าพรรคการเมือง เพราะกลุ่มผลประโยชน์เป็นกระบอกเสียงทางหนึ่งที่สื่อสารข้อมูลในเรื่องความเดือดร้อน หรือความต้องการของประชาชนในสังคมให้ได้ยินไปถึงรัฐบาล ตลอดจนกลุ่มผลประโยชน์นี้เองก็เป็นช่องทางหนึ่งในการควบคุมกดดันรัฐบาล
ความแตกต่างระหว่างพรรคการเมืองกับกลุ่มผลประโยชน์ กล่าวคือ พรรคการเมืองนั้นมุ่งจัดตั้งรัฐบาลและเข้ามาบริหารประเทศ ส่วนกลุ่มผลประโยชน์ไม่สนใจในเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล และไม่สนใจเข้ามาบริหารประเทศ เมื่อกลุ่มผลประโยชน์ผลักดันนโยบายเสร็จ กลุ่มผลประโยชน์ก็สลายไป หรือดำรงอยู่โดยไม่ได้มีบทบาทอีก
การเกิดขึ้นของกลุ่มผลประโยชน์และพรรคการเมืองมีจุดร่วมสำคัญคือเป็นลักษณะของการรวมตัวของบุคคลที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนอาจจะเป็นด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ หรือด้านผลประโยชน์ทางอาชีพ และกลุ่มผลประโยชน์และพรรคการเมืองต่างมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันในเรื่องบทบาทหน้าที่
ประเภทของกลุ่มผลประโยชน์
1. กลุ่มผลประโยชน์ที่รวมตัวกันเป็นครั้งคราว (Anomic Interest Groups) มีลักษณะของการจัดองค์กรต่ำ บางครั้งเรียกว่าเป็นกลุ่มไร้ปทัสถาน เช่น การชุมนุมเรียกร้อง เป็นต้น
2. กลุ่มผลประโยชน์ที่ไม่ใช่สมาคมหรือกลุ่มผลประโยชน์ที่ไม่มีการจัดตั้ง (Non-Associational Interest Groups) เกิดขึ้นจากการที่สมาชิกของกลุ่มมีฐานแห่งความสำนึกร่วมกัน รับเฉพาะสมาชิกที่มีพื้นฐานอย่างเดียวกันหรือคล้ายกัน เช่น เชื้อชาติ ศาสนา และอุดมการณ์ เป็นต้น
3. กลุ่มผลประโยชน์ที่เป็นสมาคม (Associational Interest Groups) เป็นกลุ่มที่มีการจัดตั้งองค์กรที่ถาวร สามารถทำงานเป็นตัวแทนอย่างชัดเจนของผู้ร่วมกลุ่ม ภายในองค์กรของกลุ่มจึงมีการบริหารจัดการที่เป็นระบบ มีระเบียบกฎเกณฑ์ และมีลักษณะของกลุ่มที่เป็นทางการ
4. กลุ่มผลประโยชน์สถาบัน (Institutional Interest Groups) พบได้ภายในองค์กรที่เป็นทางการ เช่น พรรคการเมือง สภานิติบัญญัติ และกองทัพ
กลุ่มผลประโยชน์ยังสามารถแบ่งออกเป็น 5 ประเภทได้อย่างกว้างๆ ดังนี้
1. กลุ่มผลประโยชน์ทางธุรกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (Interest Groups of Business, Commerce and Industry) จะรวมตัวกันด้วยผลประโยชน์เกี่ยวกับธุรกิจที่มีร่วมกันเฉพาะด้าน
2. กลุ่มผลประโยชน์แบบสหภาพแรงงาน (Labor Union) เป็นการรวมตัวกันของคนงานที่ทำอาชีพคล้าย ๆ กัน ทั้งนี้รวมตัวกันเพื่อต่อรองกับนายจ้าง หรือรัฐบาลเกี่ยวกับสวัสดิการหรือค่าแรง
3. กลุ่มผลประโยชน์ทางการเกษตร (Agricultural Interest Groups) เป็นการรวมตัวกันของเกษตรกรที่เพาะปลูกพืชประเภทเดียวกัน โดยจะเข้าไปกดดันหรือเรียกร้องให้รัฐบาลดูแลสินค้าการเกษตรของกลุ่มตลอดจนเรียกร้องให้มีการประกันราคาสินค้าพืชผลให้ได้ตามที่กลุ่มต้องการ
4. กลุ่มผลประโยชน์วิชาชีพ (Professional Interest Groups) เป็นการรวมตัวของคนที่มีวิชาชีพแบบเดียวกัน เช่น แพทย์ อาจารย์มหาวิทยาลัย วิศวกร ทั้งนี้ เพื่อต้องการผลักดันหรือปกป้องกลุ่มเมื่อนโยบายใด ๆ ก็ตามที่มากระทบกับผลประโยชน์ของกลุ่ม บางครั้งรวมตัวกันเพื่อกำหนดมาตรฐานของกลุ่ม
5. กลุ่มผลประโยชน์เฉพาะเรื่อง (Single-issue Interest Groups) เกิดขึ้นมาจากทัศนคติเรื่องใดเรื่องหนึ่งของสมาชิกที่เหมือน ๆ กัน และพยายามผลักดันเพื่อที่จะให้ความคิดและความเห็นของกลุ่มเป็นจริง ตัวอย่างเช่น กลุ่มผู้เรียกร้องความเท่าเทียมกันทางกฎหมายของผู้รักร่วมเพศ กลุ่มผู้สนับสนุนหรือต่อต้านการทำแท้ง เป็นต้น
การเลือกตั้ง (Election)
การเลือกตั้งถือว่าเป็นสถาบันทางการเมือง และกลไกสำคัญอย่างหนึ่งในระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากอย่างที่ทราบดีว่า ประชาธิปไตยในปัจจุบันเป็นประชาธิปไตยแบบตัวแทน (Representative Democracy) ที่ประชาชนจะเลือกผู้แทนเข้าไปตัดสินใจออกกฎหมาย หรือ ปฏิบัติหน้าที่แทนตนเอง แต่การเลือกตั้งไม่ใช่สิ่งที่แทนความหมายของประชาธิปไตยได้ทั้งหมด การเลือกตั้งเป็นเพียงแง่มุมเดียวในแนวคิดแบบประชาธิปไตยสมัยใหม่ โดยแนวคิดดังกล่าวก็คือ แนวคิดเรื่องการยินยอม (Consent)
การเลือกตั้งเป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเพราะการเลือกตั้งเป็นการแสดงออกซึ่งเจตนารมณ์ของประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศในอันที่จะมอบความไว้วางใจในตัวแทนของปวงชนไปใช้อำนาจแทนตน การออกเสียงเลือกตั้งเป็นสิทธิขั้นมูลฐานของมนุษย์โดยเฉพาะในสังคมประชาธิปไตย
หลักการพื้นฐานทั่วไปของการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย
1. การเลือกตั้งต้องเป็นลักษณะทั่วไป (Universal Suffrage) คือ ทุกคนที่เป็นพลเมือง ไม่ว่าเพศใด และมีอายุถึงตามกฎหมายก็จะมีสิทธิในการเลือกตั้ง
2. การเลือกตั้งต้องเป็นไปอย่างอิสระ (Free Voting) คือ ผู้ลงคะแนนจะต้องมีอิสระในการเลือกผู้แทน
3. การเลือกตั้งต้องเป็นการลงคะแนนลับ (Secret Ballot)
4. ผู้รับสมัครเลือกตั้งจะต้องมีกำหนดชัดเจนว่าจะเข้าไปดำรงตำแหน่งนานเท่าใด ตลอดจน ในรัฐนั้นต้องมีกฎหมายกำหนดว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นอีกเมื่อใด มีกฎเกณฑ์แน่นอนตายตัว (Regular)
5. ยึดหลักการหนึ่งคนหนึ่งเสียง (One Man One Vote) ไม่ว่าคน ๆ นั้นจะมีฐานะในสังคมอย่างไร
6. การเลือกตั้งจะต้องไปเป็นอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม (Fair Election) เช่น การเลือกตั้งต้องไม่มีการซื้อเสียง การเลือกตั้งต้องมีการควบคุมให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เป็นต้น
ระบบการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง
1. ระบบการเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากแบบธรรมดา (Plurality System) ระบบนี้ผู้ชนะการเลือกตั้งไม่จำเป็นที่จะต้องได้รับเสียงเกินครึ่งของจำนวนผู้มาลงคะแนน แบ่งออกเป็น 3 ระบบย่อย ได้แก่ ระบบผู้ได้คะแนนสูงสุดชนะเลือกตั้ง (First-Past-the-Post System) ระบบเสียงข้างมากธรรมดา มีตัวแทนมากกว่า 1 คน/ระบบรวมเขตเรียงเบอร์ (Block Voting) และ ระบบเสียงข้างมากธรรมดาแบบเลือกเป็นพรรค (Party Block Vote)
2. ระบบการเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากเด็ดขาด (Majority System) ระบบนี้ผู้ชนะการเลือกตั้งจะต้องชนะด้วยคะแนนเสียงที่เกินกว่าครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง แบ่งออกเป็น 2 ระบบย่อย ได้แก่ ระบบทางเลือกหรือการจัดลำดับความชอบ (The Alternative Vote หรือ Preference Vote/ Preferential Vote) และ ระบบการเลือกตั้ง 2 รอบ (The Two-Round System/ Two Ballot System)
3. ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วน (Proportional System) ระบบนี้มีลักษณะสำคัญคือ การแบ่งคะแนนเสียงที่ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งลงให้กับพรรคการเมืองให้สอดสัมพันธ์กับสัดส่วนที่นั่งของตัวแทนที่พึงมีในเขตเลือกตั้ง ทำให้ทุกคะแนนเสียงมีความหมายไม่สูญเปล่า เป็นเรื่องที่แตกต่างจากระบบการเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากธรรมดา แบ่งออกเป็น 2 ระบบย่อย ได้แก่ ระบบบัญชีรายชื่อ (Party List) และ ระบบถ่ายโอนคะแนนเสียง(Single Transferable Vote)
4. ระบบผสม (Mixed System) เป็นระบบการเลือกตั้งที่พยายามนำเอาข้อดีของระบบการเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากธรรมดา หรือ เสียงข้างมากเด็ดขาด และระบบสัดส่วนมาใช้ โดยในการเลือกตั้งแต่ละครั้งจะนำ 2 ระบบมาใช้ร่วมกัน
---------------------------
0 ความคิดเห็น