ความคิดกับการเมือง: จากปรัชญาการเมืองถึงอุดมการณ์ทางการเมือง
อุดมการณ์ทางเมือง (Political Ideology)
อุดมการณ์ทางเมือง (Political Ideology) ถูกใช้ครั้งแรก ในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศสโดยนักคิดชื่อ Antoine Destutt de Tracy หมายถึง ศาสตร์ของความคิด หรือการศึกษาความคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ (Science of Ideas) ในปัจจุบัน อุดมการณ์ทางเมือง คือ ชุดของระบบความเชื่อในทางการเมืองที่เป็นระบบระเบียบในเรื่องต่าง ๆ เช่น คุณค่าในทางการเมือง มุมมองในเรื่องรัฐ ระบบการเมือง ความสัมพันธ์ของคนในสังคม ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครอง และผู้ถูกปกครอง
ดังนั้น อุดมการณ์ทางการเมือง คือ แบบแผนที่เป็นรูปธรรมของปรัชญาการเมืองที่ผลิตขึ้นเพื่อตอบสนองมวลชน
เมื่อพิจารณาจากจุดกำเนิดทางประวัติศาสตร์ในการปฏิวัติฝรั่งเศส ร่วมกับนิยามอุดมการณ์ทางการเมืองที่พัฒนามาจากวิทยาศาสตร์แห่งความคิดของ Tracy อุดมการณ์ทางการเมือง คือ ผลผลิตโดยตรงของการเปลี่ยนแปลงเป็นสมัยใหม่ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีฐานมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างรุนแรง เช่นการเกิดสังคมอุตสาหกรรมเสรี นำมาสู่จุดกำเนิดของอุดมการณ์ทางการเมืองแบบแรกสุด ที่ชื่อว่าเสรีนิยม ซึ่งเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับ คำว่า อุดมการณ์ทางเมือง ก่อนที่จะแนวคิดเรื่องอุดมการณ์คลี่คลายและเพิ่มมากขึ้นไปสู่แบบอื่น ๆ อีกมากมาย
อุดมการณ์แบบเสรีนิยม (Liberalism)
ยุคส่องสว่างทางปัญญา (Age of Enlightenment) ของยุโรป แนวคิดเรื่องเสรีภาพ เสมอภาค และหลักการเรื่องการยินยอม นักคิดที่ถือว่าเป็นรากฐานให้กับอุดมการณ์เสรีนิยม ได้แก่ John Lock, Rousseau, John Stuart Mill, Montesquieu, Kant, Thomas Paine แนวคิดเสรีนิยมเป็นรากฐานสำคัญให้กับลัทธิประชาธิปไตย
แนวคิดสำคัญที่เป็นรากฐานของนักคิดในช่วงยุคส่องสว่างทางปัญญา เชื่อในเรื่องเหตุผล (Reason) ของมนุษย์ ด้วยความที่เป็นช่วงเวลาซึ่งยุโรปสามารถสลัดอำนาจของศาสนจักรที่เคยครอบงำอยู่นับพันปีออกได้ ดังนั้น พวกเสรีนิยมจึงเชื่อว่าเหตุผลนั้นคือสิ่งที่จะทำให้มนุษย์ก้าวหน้าได้ หาใช่ศรัทธา (Faith) อันเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวดั้งเดิมของยุคกลาง
Diderot “ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ต้องถูกตรวจสอบด้วยเหตุผลโดยไม่มีการรีรอและไม่มีข้อยกเว้น …..และสิ่งใดก็ตามที่ไม่ได้อยู่บนหลักการของเหตุผล สิ่งนั้นจำต้องถูกกำจัดทิ้งเสีย…. เมื่อใดที่ความจริงและความรู้ได้เข้ามาแทนที่ความโง่เขลาและสิ่งเหนือธรรมชาติ เมื่อนั้นมนุษย์จึงจะก้าวหน้าไปได้”
อิฐก้อนแรกของอุดมการณ์เสรีนิยม ก็คือความเชื่อมั่นในเหตุผลของมนุษย์ในช่วงยุคส่องสว่างทางปัญญาว่าจะทำให้สังคมมนุษย์ก้าวหน้า
หลักการพื้นฐานของอุดมการณ์แบบเสรีนิยม
1. เสรีภาพ (Liberty) เน้นแนวคิดเรื่องปัจเจกบุคคล (Individualism) ที่เชื่อว่าความเป็นส่วนบุคคลต้องมาก่อนสิ่งอื่นใด คนแต่ละคนมีสิทธิติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด มนุษย์ทุกคนมีเสรีภาพในการที่จะกระทำอะไรก็ได้ตราบเท่าที่ไม่ละเมิดเสรีภาพของบุคคลอื่น
2. ความเสมอภาค (Equality) ความเชื่อในเรื่องความเสมอภาคในโอกาส (Equality of Opportunity) ทุกคนมีโอกาสที่เท่าเทียมกันในการที่จะทำอะไรก็ได้
3. ความอดทนอดกลั้น (Toleration) เมื่อแต่ละคนได้ทำอะไรก็ตามที่เขาอยากจะทำและไม่ได้มาละเมิดเสรีภาพหรือสิทธิของคนอื่น คนอื่น ๆ ก็ต้องอดทนอดกลั้นวางเฉยแม้ว่าตนเองจะไม่ชอบต่อการกระทำนั้นก็ตาม
4. หลักการยินยอมโดยสมัครใจ (Consent) ในเรื่องต่าง ๆ ถ้าบุคคลหนึ่ง ๆ ไม่ยินยอม คนอื่น ๆ ก็ไม่มีสิทธิอย่างชอบธรรมที่จะไปบังคับเขา ผู้ปกครองต้องมาจากการยินยอมของผู้ใต้ปกครอง
ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของการเคลื่อนไหวของอุดมการณ์เสรีนิยม
การปฏิวัติอเมริกาในปี ค.ศ. 1776 และ การปฏิวัติใหญ่ฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 1789 ที่สะท้อนถึง อุดมการณ์แบบเสรีนิยมที่เชื่อในพลานุภาพของเหตุผลของมนุษย์ และเสรีภาพทางโอกาสที่แต่ละคนจะใช้เพื่อประโยชน์ของตนนั่นเอง
อุดมการณ์อนุรักษ์นิยม (Conservatism)
เป็นเสมือนคู่ตรงกันข้ามกับอุดมการณ์แบบเสรีนิยม เนื่องจากการเกิดขึ้นของอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมนี้ได้เกิดขึ้นมาจากการแสดงความไม่เห็นด้วยและเพื่อต่อต้านอุดมการณ์แบบเสรีนิยมที่เฟื่องฟูอย่างมากในเวลานั้นโดยเฉพาะในช่วงการปฏิวัติใหญ่ฝรั่งเศส ค.ศ. 1789
Edmund Burke โจมตีการปฏิวัติฝรั่งเศสภายใต้แนวคิดเสรีนิยมที่นำมาสู่ความโกลาหลวุ่นวาย
หลักการพื้นฐานของอุดมการณ์อนุรักษ์นิยม
1. การยึดถือประเพณี (Tradition) ประเพณีต่าง ๆ เป็นสิ่งที่มีค่ามากควรแก่การรักษาไว้ เพราะแสดงถึงแบบแผนที่มีคุณค่า ดังนั้น สิ่งใด ๆ ที่เคยกระทำกันมาก็ควรจะกระทำต่อไป แต่ไม่ใช่ว่าแนวคิดเช่นนี้จะต่อต้านการเปลี่ยนแปลง แม้ว่าบางอย่างจะดูล้าสมัยก็ไม่ควรยกเลิกอย่างกะทันหัน แต่ควรเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปมากกว่า
2. สิ่งที่ปฏิบัติได้จริง (Pragmatism) การจะกระทำอะไรก็ตาม ควรที่จะยึดหลักว่าปฏิบัติและเป็นประโยชน์ได้จริง สิ่งที่สามารถดำรงอยู่มาได้นานแล้ว ก็คือสิ่งที่สามารถปฏิบัติได้จริง
3. มองมนุษย์ในแง่ร้าย (Pessimistic) มนุษย์ต้องถูกควบคุมอยู่ตลอดเวลา มิฉะนั้นธรรมชาติด้านเลวทรามของมนุษย์ก็จะถูกปลอดปล่อยออกมา
4. สังคมเป็นลำดับชั้น (Hierarchy) ลำดับชั้นนั้นเป็นเรื่องธรรมชาติที่มีมาตั้งแต่โบราณ และก็สมควรดำรงอยู่ตลอดไป ในฐานะประเพณีที่ใช้งานได้จริงจากประวัติศาสตร์เพื่อควบคุมและจัดระเบียบธรรมชาติของมนุษย์
อุดมการณ์อนุรักษ์นิยมเชื่อมั่นว่าระเบียบหรือชุดกติกาเดิมที่ได้กระทำมาเป็นสิ่งที่สมควรยึดถือและอนุรักษ์เอาไว้
อุดมการณ์แบบชาตินิยม (Nationalism)
Eric Hobsbawm แนวคิดชาตินิยมสามารถเห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนจากเหตุการณ์การปฏิวัติอเมริกา ค.ศ. 1776 และการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. 1789 อุดมการณ์แบบชาตินิยมนั้นส่วนใหญ่จะเป็นอุดมการณ์ที่อิงกับอุดมการณ์แบบอื่น หรือมีการผสมกับแบบอื่นอยู่ มากกว่าจะปรากฏขึ้นมาอย่างโดดเดี่ยว
การคลี่คลายตัวของอุดมการณ์ชาตินิยมในตอนเริ่มต้นมีการเปลี่ยนแปลงหลัก ๆ สองช่วงเวลา
1. ช่วงแรกในราว ค.ศ. 1830-1880 โดยมีนักคิดสำคัญที่วางรากฐานให้กับชาตินิยมในสกุลนี้ก็คือ Jean Jacques Rousseau, Abbe Sieyes แนวคิดเสรีภาพของปัจเจกชนและการรวมตัวเป็นชุมชนการเมือง อุดมการณ์ชาตินิยมมีลักษณะเป็นแบบเสรีนิยมเป็นหลัก (Liberal Nationalism) ชาติก็คือ การรวมตัวกันของประชาชนที่มีเสรีภาพทุกคน ดังนั้น ชาติจึงเป็นของประชาชน และจากแนวคิดนี้เองจึงก่อให้เกิดแนวคิดเรื่อง อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนซึ่งเป็นรากฐานของประชาธิปไตยตามมาด้วย
2. ช่วงที่สอง คือ ค.ศ. 1880-1914 ภายใต้การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองในยุโรป อุดมการณ์แบบชาตินิยมกลับมามีลักษณะอิงกับอุดมการณ์แบบอนุรักษ์นิยมค่อนข้างมาก (Conservative Nationalism) ชาติเป็นเรื่องของประเพณีและวัฒนธรรมที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน ดังนั้นเอง สถาบันต่าง ๆ ที่มีมาตั้งแต่อดีตก็คือ ชาติ ดังนั้น การรักษาไว้ซึ่งสถาบันต่าง ๆ เหล่านี้ ก็คือ การรักษาชาติไว้นั่นเอง ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา อุดมการณ์แบบชาตินิยมได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการปลดแอกของประเทศอาณานิคมต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก จนกระทั่งถึงปัจจุบัน
อุดมการณ์ชาตินิยม เชื่อว่าการอยู่รวมกันเป็นชาติ คือธรรมชาติของมนุษย์ และมองการประกอบขึ้นเป็นชาติว่าเป็นลักษณะองคาพยพ (Organism) ที่หลอมรวมกันขึ้นโดยมีภาษาและวัฒนธรรมเป็นเครื่องยืนยันว่าเป็นคนชาติเดียวกัน
อุดมการณ์แบบสังคมนิยม (Socialism)
ในช่วงศตวรรษที่ 18 ยุคแห่งการเกิดขึ้นของทุนนิยม (Capitalism) ที่กำลังแพร่หลาย ในด้านหนึ่งทุนนิยมทำให้วิทยาการความรู้ต่าง ๆ เฟื่องฟูอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน มีนักคิดที่พยายามเสนอแนวทางอื่นเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว เช่น Saint Simon, Robert Owen, Charles Fourier แนวคิดแบบสังคมนิยมเพ้อฝัน (Utopian Socialism)
ในช่วงปี ค.ศ. 1850 เป็นต้นมา แนวคิดสังคมนิยมได้มีแนวคิดสังคมนิยมแบบใหม่เกิดขึ้น ซึ่งถูกเรียกว่า สังคมนิยมแบบวิทยาศาสตร์ (Scientific Socialism) หรือที่รู้จักกันดีในชื่อว่า มาร์กซิสต์ (Marxism) นำโดย Karl Marx ซึ่งภายหลังได้ถูกนำพัฒนาต่อไปกลายเป็นลัทธิคอมมิวนิสต์ (Communism)
รากฐานของแนวคิดนี้ คือ การต่อยอดจาก นักคิดศตวรรษที่ 18 โดยวิพากษ์วิจารณ์ถึงสภาพสังคมสมัยใหม่ตามแนวคิดเสรีนิยมในแง่ที่ว่าเป็นสังคมเสรี มีการแข่งขันทางการค้าและการขยายตัวของอุตสาหกรรม มีโรงงานเพิ่มขึ้นจำนวนมาก เศรษฐกิจเติบโตขึ้น คือ ฉากหน้าอันจอมปลอม แต่โฉมหน้าของสังคมสมัยใหม่จริง ๆ แล้วนั้น คือ สังคมอุตสาหกรรมขูดรีด
วัตถุนิยมวิภาษวิธี (Dialectical historical materialism) ทุกอย่างมีความสัมพันธ์กัน มนุษย์เป็นหลักของประวัติศาสตร์ แต่มนุษย์ก็เกิดมาภายใต้ประวัติศาสตร์ที่มนุษย์ก่อนหน้าสร้างไว้ ดังนั้น มนุษย์จึงมีหน้าที่เปลี่ยนสังคมนั้นเพื่อให้บรรลุถึงอิสรภาพและความเป็นมนุษย์ของเขา เพื่อให้พ้นไปจาก “ความแปลกแยก” (Alienation) คือ ภาวะที่มนุษย์รู้สึกว่าไร้ความสามารถในการกำหนดสิ่งต่าง ๆ รวมถึงไม่เข้าใจความสัมพันธ์ของตนกับสิ่งรอบ ๆ ตัว และ “การกดขี่” (Exploitation) คือ ภาวะที่มนุษย์ถูกคนอื่น ๆ เอารัดเปรียบ ซึ่งภาวะเหล่านี้สะท้อนชัดเจนในสังคมทุนนิยมขูดรีด
แนวคิดของมาร์กซ์ จึงเสนอให้กรรมาชีพปฏิวัติเพื่อทำลายระบบนายทุน แนวคิดเหล่านี้ของมาร์กซ์ได้ถูกนำมาปรับใช้ในแนวทางสังคมนิยมเช่นในกรณีของรัสเซีย โดย Lenin ซึ่งเสนอให้ กรรมาชีพก่อตั้งพรรค เพื่อสร้างสังคมกรรมาชีพ โดยทำการปฏิวัติ และปกครองโดยระบบเผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ ซึ่งหมายถึง การใช้อำนาจอย่างเข้มข้นเพื่อผลประโยชน์ของชนชั้นกรรมาชีพในการกวาดล้างความสัมพันธ์ทางการผลิตในแบบเดิมให้หมดไป และสถาปนาความสัมพันธ์ทางการผลิตในรูปแบบใหม่ เมื่อความสัมพันธ์ทางการผลิตในรูปแบบใหม่เกิดขึ้น อันได้แก่การยกเลิกกรรมสิทธิ์ สังคมจะเปลี่ยนเข้าสู่สังคมคอมมิวนิสต์ และรัฐจะสลายตัวไปเอง ซึ่งแนวคิดได้นำไปสู่การปฏิวัติกรรมาชีพของรัสเซียในที่สุด
หลักการพื้นฐานของอุดมการณ์แบบสังคมนิยม
1. การให้ความสำคัญต่อชุมชนมากกว่าปัจเจกบุคคล (Community) มนุษย์จะเข้าถึงเสรีภาพที่แท้จริงก็ด้วยการให้ความสำคัญกับสังคม ด้วยเหตุนี้แนวคิดนี้จึงมีชื่อว่า สังคมนิยม
2. ความเป็นภารดรภาพ (Fraternity) มนุษย์แต่ละคนล้วนมีความสัมพันธภาพต่อกันเฉกเช่นพี่น้อง แนวคิดเช่นนี้แสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมผ่านระบบกรรมสิทธิ์ส่วนรวม ที่แสดงถึงความเป็นเจ้าของร่วมกัน
3. ความเสมอภาคทางสังคม (Social Equality) ความเสมอภาคทางวัตถุ และสนับสนุนการกระจายทรัพยากรควรเป็นไปตามความต้องการ แต่กระนั้นทุก ๆ คนต้องลงแรงตามความสามารถของตนด้วยเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม
อุดมการณ์แบบสังคมนิยม คือ ภาพสะท้อนของปัญหาแบบเสรีนิยมและความพยายามสร้างสังคมที่ดีกว่า บนความเสมอภาคทางวัตถุ
อุดมการณ์แบบฟาสซิสต์ (Fascism)
ก่อตัวขึ้นในยุโรป ในช่วงศตวรรษที่ 20 เป็นการโหยหาอุดมการณ์ทางการเมืองแบบใหม่มาแทนอุดมการณ์ทางการเมืองที่มีอยู่เดิม เพื่อรองรับบริบททางสังคมที่เปลี่ยนไป ฟาสซิสต์ หมายถึง อุดมการณ์ทางการเมืองอย่างหนึ่งที่ส่งอิทธิพลอย่างกว้างขวางแม้กระทั่งลัทธินาซีในเยอรมัน และการปรากฏตัวของแนวคิดนี้เองจะนำไปสู่การเปลี่ยนโฉมหน้าของประวัติศาสตร์โลกผ่านการเกิดขึ้นของสงครามโลกครั้งที่สอง
ต้นกำเนิดของอุดมการณ์นี้มาจากความคิดของขบวนการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ต่อกับต้นศตวรรษที่ 20 โดยขบวนการเคลื่อนไหวที่เรียกว่าฟาสซิสต์นั้นเป็นกระแสที่เกิดขึ้นเพื่อต่อต้านแนวคิดแบบเสรีนิยม แนวคิดที่เน้นเสรีภาพ แบบอุดมการณ์เสรีนิยมนั้นจะนำไปสู่ความเสื่อมของสังคมในท้ายที่สุด ฟาสซิสต์ได้เสนอสโลแกนว่า “1789 ตายแล้ว” (1789 is dead) เพื่อโจมตีว่าระบบคุณค่าของพวกเสรีนิยมที่มีสัญลักษณ์สำคัญคือ การปฏิวัติในปี ค.ศ. 1789 นั้นไม่สามารถที่จะนำมาใช้ได้ ต่อต้านอุดมการณ์อนุรักษ์นิยม และอุดมการณ์แบบสังคมนิยมด้วย
ฟาสซิสต์ หรือ Fascism มีรากศัพท์มาจากภาษาลาติน (Latin) ที่แปลว่ามัดหวาย ซึ่งมัดหวายนี้เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจที่เมื่อพวกขุนนางโรมันเดินไปที่ใดก็จะมีพวกถือหวายนำหน้า ตลอดจนในการลงโทษของพวกยุโรปตะวันตก การเฆี่ยนด้วยหวายก็ถือว่าเป็นการลงโทษแบบหนึ่งที่แสดงถึงการใช้อำนาจลงโทษ นอกจากนี้ หวายที่ถูกนำมามัดรวมกันนั้น ยังหมายถึงความสามัคคีอีกด้วย เหตุนี้เอง มัดหวายจึงถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์และเป็นชื่อของฟาสซิสต์
ลักษณะพิเศษของลัทธิฟาสซิสต์เป็นการต่อต้านอุดมการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ ศาสนา และการศึกษาที่เคยมีอิทธิพลอยู่เดิมในโลกตะวันตกทั้งหมด สิ่งที่ลัทธิฟาสซิสต์ต่อต้านนั้นกว้างขวางตั้งแต่ แนวคิด อนุรักษ์นิยม (Conservatism) เสรีนิยม (Liberalism) คอมมิวนิสต์ (Communism) หรือแม้แต่แนวคิด นานาชาตินิยม (Internationalism) นอกจากนั้นยังปฏิเสธระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตย (Democracy) และระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม (Capitalism) รวมถึงต่อต้านรากฐานทางปรัชญาของยุคสมัยใหม่อย่าง เหตุผลนิยม (Rationalism) และปฏิฐานนิยม (Positivism) ไม่เพียงต่อต้านแนวคิด ยิ่งไปกว่านั้นยังรวมถึงการต่อต้านชนชั้นต่าง ๆ ในสังคมด้วย นับตั้งแต่นักวิชาการ (Intellectual) ชนชั้นกลาง (Bourgeois) ไปจนถึง กรรมาชีพ (Proletarian) และท้ายที่สุด คือ การที่ฟาสซิสต์ต่อต้านแนวคิดปัจเจกชนนิยม (Individualism) ซึ่งสาเหตุที่ลัทธิฟาสซิสต์ต่อต้านแนวคิดที่มีอยู่เดิมเหล่านี้ ก็เพราะต้องการแนวคิดใหม่ที่จะสามารถหล่อหลอมชาติให้เป็นหนึ่งเดียว เพื่อให้เกิดสังคมใหม่ขึ้น
องค์ประกอบหนึ่งของลัทธิฟาสซิสต์ที่โดดเด่นและเป็นส่วนสำคัญในการแยกลัทธิฟาสซิสต์ออกจากอุดมการณ์ทางการเมืองอื่น ๆ คือ ความรักชาติ ความรักชาติตามแนวทางฟาสซิสต์นั้นเป็นเครื่องมือสำคัญในการหลอมหลวมส่วนเล็ก ๆ ที่แหลกเหลวจากลัทธิปัจเจกนิยม และระบอบทุนนิยมให้กลายเป็นสังคมที่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวและเข้มแข็ง ความรักชาติอันแท้จริงที่ลัทธิฟาสซิสต์ต้องการนั้นมาจากอารมณ์ และสัญชาตญาณของมนุษย์ ดังปรากฏในคำขวัญหนึ่งของลัทธินาซีที่ว่า “เราคิดด้วยเลือดของเรา”
การจะทำให้ความรักชาติที่มาจากอารมณ์ และสัญชาตญาณ ถูกหล่อหลอมรวมกันเป็นสังคมที่เหนียวแน่นและมีเอกภาพ จำเป็นต้องพึ่งองค์ประกอบสำคัญยิ่งอีกประการหนึ่งของลัทธิฟาสซิสต์คือ เรื่องเหนือจริง (Mysticism) ความจำเป็นที่จะต้องใช้แนวคิดเหนือจริงก็เพราะการจะสร้างความเข้มแข็งให้กับหลักการการรวมชาติที่สนับสนุนแนวคิดเผด็จการเบ็ดเสร็จนั้น จะต้องมีฐานความคิดที่ไม่อาจโต้แย้งได้
------------------------
0 ความคิดเห็น