คำบรรยาย ภาคล่าสุด
วิชา POL2100 บทนำ การศึกษาการปกครองเปรียบเทียบ
โดย อ.ดร.กฤติธี ศรีเกตุ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ข้อสอบอยู่ในคำบรรยายนี้ทั้งหมด โปรดอ่านและทำความเข้าใจให้ดี
--------------------------

เพราะเหตุใดจึงต้องศึกษาเปรียบเทียบ
ประการแรก การเรียนรู้เชิงเปรียบเทียบเป็นการเรียนรู้เพื่อให้มองเห็นมากขึ้นกว้างขึ้น 
ประการที่สอง การศึกษาเปรียบเทียบนำไปสู่การศึกษาอย่างมีเหตุมีผล เป็นระบบ และนำไปใช้วิเคราะห์อธิบายได้ถูกต้องมากขึ้น สามารถนำไปตอบคำถามในทางการเมืองการปกครองได้อย่างมีเหตุมีผลในเชิงวิชาการ 
ประการที่สาม การประมวลผล หาข้อสรุป และใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการคาดเดาเหตุการณ์ หรือการทำนายแนวโน้มในอนาคตศึกษาเพื่อคาดการณ์ถึงผลที่ควรเกิดขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงผลเสียที่ไม่ควรเกิดขึ้น 
ประการที่สี่ การรู้จักความแตกต่าง จัดกลุ่มเพื่อแบ่งแยกความแตกต่าง เกิดความเข้าใจมากขึ้นในเหตุผลของความแตกต่าง

ประเด็นของการศึกษา 
1. ลักษณะทางการเมืองของประเทศนั้นมีที่มาอย่างไร 
2. ระบบการเมืองในแต่ละประเทศเป็นอย่างไร 
3. การศึกษากลไกทางการปกครอง รูปแบบของรัฐบาลและรัฐธรรมนูญ
4. การวัดผลของระบบการปกครองในแต่ละประเทศหรือการหาข้อสรุปจากรูปแบบการปกครองที่ได้ศึกษามา 

การจัดกลุ่มประเทศ
1. กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมและมีระบอบการปกครองแบบเสรีประชาธิปไตย/กลุ่มโลกที่หนึ่ง 
2. กลุ่มประเทศที่มีแนวคิดสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์เป็นหลัก/กลุ่มโลกที่สอง 
3. กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา/กลุ่มโลกที่สาม

การจัดประเภทของระบบการเมือง
การแบ่งประเภทผู้ปกครองตามแนวคิดของอริสโตเติลมีดังนี้


รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย
1. รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยต้องมีองค์ประกอบสำคัญ คือ การเลือกตั้งเสรี มีฝ่ายค้านด้านการเมืองที่สามารถวิพากษ์วิจารณ์การเมืองได้โดยเสรี สื่อมวลชน ประชาชน มีเสรีภาพทางการเมือง ทหารไม่ก้าวก่ายการเมือง การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้นโดยสันติ กฎหมายเป็นกลาง
2. ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายต้องอยู่ภายใต้กฎหมายด้วย
3. มักมีในประเทศที่เก่าแก่และมีการพัฒนาทางการเมืองแล้ว

ระบบเผด็จการอำนาจนิยม 
1. กิจกรรมทางการเมืองถูกควบคุม สื่อถูกควบคุม อิสรภาพมีจำกัด ไม่มีฝ่ายค้าน 
2. ผู้นำหรือพรรคการเมืองเผด็จการอาจได้รับการสนับสนุนจากประชาชนบางส่วน 
3. มักอยู่ในรูปเผด็จการทหาร ซึ่งทหารเห็นว่าตนซื่อตรงมากกว่า มีความสามารถมากกว่าและมีฐานะสูงกว่าในองค์กรระดับชาติ 

ระบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ
ผู้นำเดี่ยวมีอิทธิพลครอบงำ ระบบพรรคเดียว แนวคิดที่มีรากฐานในเรื่องชนชั้น ชาติพันธุ์หรือชาติ รัฐควบคุมเศรษฐกิจ ผูกขาดควบคุมสื่อ มีระบบควบคุมตรวจสอบ ตำรวจลับที่มีอำนาจ ค่ายกักกัน 
ควบคุมพฤติกรรมทั้งหมด และองค์กรทุกองค์กร รวมถึงตัวบุคคลอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้ปกครอง 
นาซีเยอรมัน ฟาสต์ซีสต์อิตาลี สหภาพโซเวียตยุคสตาลิน 

ระบบคอมมิวนิสต์
แนวคิดมาร์กซ์-เลนิน มาร์กซ์เห็นว่าทุนนิยมจะถูกล้มล้างโดยการปฏิวัติของชนชั้นแรงงาน และแทนที่ด้วยระบบที่ไม่มีชนชั้น ตามแนวคอมมิวนิสต์ ส่วนเลนินเรียกร้องให้สร้างศูนย์รวมอำนาจและพรรคปฏิวัติที่มีวินัยเข้มแข็ง หลักการสำคัญคือ ประชาธิปไตยรวมศูนย์
เลนินปฏิวัติรัสซียสำเร็จในปี ค.ศ. 1917 ตั้งสหภาพโซเวียตในเวลาต่อมา 
คอมมิวนิสต์แตกแยกแนวคิดกันในช่วงค.ศ. 1960 โซเวียตล่มสลายในปี 1991 

กลุ่มในทางการเมือง
1. ผู้แทนตามหน้าที่การงาน ระบบบรรษัท ใช้ในลาตินอเมริกา ผู้แทนหมายถึงตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์ กลุ่มอาชีพต่าง ๆ และพบในระบบคอมมิวนิสต์
2. ผู้แทนตามขอบเขตพื้นที่ เช่น ผู้แทนระบบแบ่งเขต ผู้แทนระบบรวมเขต 
3. กลุ่มผลประโยชน์
4. พรรคการเมือง

สถาบันทางการเมือง
รัฐธรรมนูญ นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ 
รัฐธรรมนูญเป็นตัวกำหนดว่าสถาบันใดมีฐานะหน้าที่และอำนาจอย่างไรแค่ไหน กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันต่าง ๆ กำหนดโครงสร้างรัฐ ขึ้นกับว่าเป็นรัฐเดี่ยว รัฐรวมหรือสหพันธรัฐ

ระบบรัฐสภา
         ระบบรัฐสภามีต้นแบบมาจากประเทศอังกฤษ มีหลักการสำคัญ ดังนี้
- รัฐสภา เป็นหัวใจของระบบนี้ คือมีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาโดยตรง เพื่อเข้าไปทำหน้าที่นิติบัญญัติ และจะมีการเลือกฝ่ายบริหารจากสมาชิกรัฐสภา ทั้งนี้ แม้ดูเหมือนรัฐสภาจะมีอำนาจมาก แต่ในทางปฏิบัติอำนาจมักอยู่ที่ฝ่ายบริหาร เพราะฝ่ายบริหารมักคุมเสียงข้างมากในรัฐสภา มีลักษณะของการเชื่อมโยงอำนาจ (Fusion of Power)
- ในระบบรัฐสภา ประมุขของรัฐและประมุขของฝ่ายบริหาร มักเป็นคนละคนกัน โดยที่อำนาจจะอยู่ที่ประมุขของฝ่ายบริหาร
- มีการถ่วงดุลระหว่างรัฐสภาและฝ่ายบริหาร โดยสภาผู้แทนราษฎรสามารถเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลและถอดถอนรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีได้ ส่วนนายกรัฐมนตรีก็มีอำนาจในการประกาศยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้

ระบอบประชาธิปไตย: ระบบประธานาธิบดี
        ระบบประธานาธิบดีมีต้นแบบมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา เน้นการแบ่งอำนาจเด็ดขาด (Separation of Power) ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการมีหลักการสำคัญ ดังนี้
- ประชาชนเลือกฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ในขณะที่หัวหน้าฝ่ายบริหารเป็นผู้แต่งตั้งผู้พิพากษา 
- ประมุขของรัฐและประมุขของฝ่ายบริหาร มักเป็นคนเดียวกัน โดยที่อำนาจจะอยู่ที่ประมุขของฝ่ายบริหาร
- ฝ่ายบริหารไม่ถูกควบคุมจากฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหารก็ไม่มีอำนาจยุบสภา แต่ในบางกรณี เช่น สหรัฐอเมริกา รัฐธรรมนูญเปิดช่องให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอถอดถอนประธานาธิบดี รองประธานาธิบดี และเจ้าหน้าที่พลเรือนได้ ในกรณีที่มีความผิดฐานทรยศต่อชาติ รับสินบน ความผิดอาญาระดับสูงและมีพฤติกรรมเสื่อมเสีย
- การตรวจสอบและถ่วงดุล ฝ่ายรัฐสภาเสนอการถอดถอนดังกล่าวข้างต้นได้ ส่วนประธานาธิบดีก็มีสิทธิยับยั้งกฎหมายที่ออกจากสภาได้ แต่หากเสียงสองในสามของทั้งสส.และสว. ยืนยันกฎหมายก็ผ่านได้ ประธานาธิบดีแต่งตั้งฝ่ายบริหาร แต่ก็ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา เป็นต้น 

ระบอบประชาธิปไตย: ระบบกึ่งประธานาธิบดี-กึ่งรัฐสภา 
        ระบบกึ่งประธานาธิบดี-กึ่งรัฐสภา ให้อำนาจประธานาธิบดีมาก ในขณะเดียวกันก็ให้อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติมากเช่นกัน มีหลักการสำคัญ ดังนี้
- ประมุขของรัฐมาจากการเลือกตั้งและมีอำนาจเด็ดขาด เป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร และมีอำนาจตัดสินใจลงนามในกฎหมาย มีอำนาจยุบสภาได้ รัฐสภาถอดถอนนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีได้ แต่ไม่อาจถอดถอนประธานาธิบดีได้ และหากนายกรัฐมนตรีถูกถอดถอน ประธานาธิบดีก็สามารถตั้งคนใหม่ได้ 
- รัฐสภามีอำนาจนิติบัญญัติและบริหารบางส่วน คือลงมติไม่ไว้วางใจแต่ไม่มีอำนาจอื่นเช่น การให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูง 
- นายกรัฐมนตรีรับผิดชอบต่อสภาและประธานาธิบดี 

นโยบายสาธารณะ
กิจกรรมของรัฐมีหลากหลาย นโยบายของรัฐจึงมีลักษณะหลากหลาย 
ตั้งแต่สวัสดิการสังคม การจัดการทางเศรษฐกิจ การดูแลสภาวะแวดล้อม การป้องกันประเทศ 
นโยบายสาธารณะเกิดจากการตัดสินใจทางการเมือง ซึ่งกิจกรรมที่ทำร่วมกัน ต้องเป็นที่ยอมรับ สอดประสานความต่างเข้าด้วยกัน ออกมาเป็นข้อสรุปเชิงนโยบาย

การกำหนดนโยบายสาธารณะแตกต่างกันได้อย่างไร 
1. โครงสร้างของสถาบันการเมืองการปกครอง
2. กระบวนการทางการเมือง
3. แนวคิดครอบงำหรือแนวคิดกระแสหลักในสังคม
4. องค์ประกอบพื้นฐานของสังคม

ความเจริญของสังคม/พัฒนาการทางการเมือง
        แม็กซ์ เวเบอร์ จัดระบบสังคมไว้ดังนี้
  ระบบดั้งเดิม ยึดถือธรรมเนียม ระบบบุคลาธิษฐาน ยึดตัวบุคคล ระบบราชการ ยึดกฎหมาย 
ในสังคมดั้งเดิม มักอยู่ในสังคมเกษตรกรรม มากกว่าในอุตสาหกรรม 
ในสังคมดั้งเดิม ความสัมพันธ์ทางสังคมที่สำคัญคือครอบครัว เครือญาติ เผ่าพันธุ์ ส่วนสังคมสมัยใหม่ มีความซับซ้อนหลากหลาย 
ในสังคมดั้งเดิม ประชากรรู้หนังสือน้อย ยากจน ชีวิตสั้น มีสภาพชนบทมากกว่าสังคมสมัยใหม่ 
ในสังคมสมัยใหม่ เกณฑ์ทางการเมืองขึ้นกับเหตุผลมากกว่า 
------------------------------------------------