เหตุผลในการประกาศใช้

-----------------------------
  • พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2499
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เพื่อให้คดีลุล่วงไปโดยรวดเร็วยิ่งขึ้นและแก้ข้อขัดข้องของศาลและคู่ความในการดำเนินกระบวนพิจารณาบางประที่สำคัญ ทั้งสมควรปรับปรุงแก้ไขอัตราที่กำหนดไว้ในตารางท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งให้เหมาะสมด้วย

  • พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2518
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีในศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาลุล่วงไปโดยเหมาะสมและรวดเร็วยิ่งขึ้นและเพื่อเป็นหลักประกันในการดำรงชีพของลูกหนี้ตามคำพิพากษาให้ดีขึ้นกว่าเดิม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

  • พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2521

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากค่าขึ้นศาล ค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ค่าสืบพยานนอกศาล ค่าป่วยการและค่าพาหนะพยานกับค่ารังวัดทำแผนที่ และอัตราค่าทนายความที่กำหนดไว้ในตารางท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่ใช้อยู่ได้กำหนดไว้นานมาแล้ว ไม่เหมาะสมแก่ภาวะกาณ์ในปัจจุบัน สมควรแก้ไขให้เหมาะสมยิ่งขึ้น และควรแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 151 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ให้สอดคล้องกันด้วย จึงเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น

  • พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2522

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันมิได้ให้อำนาจศาลที่จะสั่งให้ส่งคำคู่ความหรือเอกสารโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับในโอกาสแรก ทำให้คู่ความต้องเสียเวลาและเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีเพิ่มมากขึ้นโดยไม่จำเป็น สมควรให้มีการส่งคำคู่ความหรือเอกสารโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับในโอกาสแรกได้ จึงเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น

  • พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2527

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน กำหนดให้ชำระหรือวางค่าธรรมเนียมโดยวิธีปิดแสตมป์ตามจำนวนที่ต้องปิดลงไว้ในคำคู่ความคำร้อง ใบรับหรือเอกสารที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความล่าช้าและไม่สะดวกในการเรียกเก็บและการชำระหรือวางค่าธรรมเนียมศาล และการตรวจสอบคำคู่ความของศาล ทั้งยังเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณและเป็นภาระในการจัดพิมพ์ และการเก็บรักษาแสตมป์ฤชาอากรอีกด้วย สมควรแก้ไขเพิ่มเติมให้มีการชำระหรือวางค่าธรรมเนียมศาลเป็นเงินสดโดยเจ้าพนักงานศาลออกใบรับให้ และสมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการตรวจคำคู่ความของศาลให้สอดคล้องกับการชำระหรือวางค่าธรรมเนียมศาลดังกล่าวด้วย จึงเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น

  • พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2527

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน
               (1) มีหลักเกณฑ์และวิธีการในการเลื่อนการพิจารณาคดีของศาลที่ยังไม่รัดกุมพอ และมิได้มีบทบัญญัติให้อำนาจศาลในการสั่งให้คู่ความฝ่ายซึ่งขอเลื่อนคดีเสียค่าป่วยการพยานซึ่งมาศาลตามหมายเรียกและเสียค่าใช้จ่ายในการที่คู่ความฝ่ายอื่นมาศาล
               (2) มีหลักเกณฑ์ในการที่ศาลจะสั่งตั้งเจ้าพนักงานหรือแพทย์ไปตรวจตัวความ ผู้แทน ทนายความ พยาน หรือบุคคลอื่นใดที่ถูกเรียกให้มาศาลแต่มาศาลไม่ได้เพราะอ้างว่าป่วยเจ็บอันเป็นเหตุให้มีการขอเลื่อนการนั่งพิจารณาที่ยังไม่รัดกุมพอ
               (3) มิได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของทนายความในคดี ซึ่งมีความประสงค์จะถอนตัวจากการเป็นทนาย ที่จะต้องแจ้งให้ตัวความทราบก่อน อันเป็นเหตุให้มีการใช้สิทธิในการถอนตัวจากการเป็นทนายเพื่อประวิงการพิจารณาคดีได้ ทำให้การพิจารณาคดีล่าช้า
               (4) มิได้กำหนดให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมในการส่งคำฟ้องโดยชัดแจ้งและมิได้มีการกำหนดวิธีการส่งคำฟ้องให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งบทบัญญัติที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันกำหนดให้โจทก์มีหน้าที่ส่งคำฟ้องแก่จำเลย แต่ในทางปฏิบัติโจทก์มิได้นำส่งเอง และในปัจจุบันก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องให้โจทก์มีหน้าที่ส่งคำฟ้องแก่จำเลยในทุกคดีเพราะการคมนาคมสะดวกขึ้นในหลายท้องที่แล้ว
               (5) กำหนดเวลาที่โจทก์จะต้องร้องต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้ส่งหมายและสำเนาคำฟ้องไปให้แก่จำเลยเพื่อแก้คดี ซึ่งกำหนดไว้สิบห้าวันนับแต่วันยื่นคำฟ้องนั้น เป็นกำหนดเวลาที่นานเกินไป
               (6) กำหนดเวลาที่โจทก์จะต้องแจ้งให้ศาลทราบเหตุแห่งการเพิกเฉยไม่ร้องขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้ส่งหมายเรียกให้แก้คดีแก่จำเลย โดยที่การไม่แจ้งตามกำหนดเวลาดังกล่าวถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง ซึ่งกำหนดไว้สิบห้าวันนับแต่วันยื่นคำฟ้องนั้น เป็นกำหนดเวลาที่นานเกินไป
               (7) มิได้กำหนดให้คู่ความมาศาลในวันชี้สองสถาน อันเป็นเหตุให้คู่ความมักจะขอเลื่อนคดีในวันนัดสืบพยานครั้งแรก และศาลไม่อาจดำเนินการไกล่เกลี่ยให้คู่ความได้ตกลงประนีประนอมหรือยอมรับในประเด็นข้อพิพาทที่อาจตกลงกันได้
               (8) มีหลักเกณฑ์การบังคับคดีในส่วนที่เกี่ยวกับการขอเฉลี่ยทรัพย์สินที่ยังไม่รัดกุมพอ ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่เจ้าหนี้ผู้ขอเฉลี่ยทรัพย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยภาษีอากรได้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้นไว้ก่อนแล้ว และในกรณีที่เจ้าหนี้ผู้ยึดทรัพย์สินสละสิทธิในการบังคับคดีหรือเพิกเฉยไม่ดำเนินการบังคับคดีภายในเวลาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนด
               (9) มิได้กำหนดให้อำนาจศาลสั่งถอนการบังคับคดี ถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่ดำเนินการบังคับคดีภายในระยะเวลาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนด
               (10) มิได้กำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขอหมายบังคับคดีเพื่อชำระเป็นค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดี ในกรณีที่มีการยึดหรืออายัดทรัพย์สินซึ่งมิใช่ตัวเงิน หรือในกรณียึดหรืออายัดเงิน หรืออายัดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายเนื่องจากเจ้าพนักงานบังคับคดีถอนการบังคับคดีนั้นเอง หรือถอนโดยคำสั่งศาล และผู้ขอให้ยึดหรืออายัดไม่ชำระค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดี
               (11) มิได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับบังคับคดีในการฟ้องขับไล่ที่รัดกุมพอ ทำให้การบังคับคดีในคดีฟ้องขับไล่ประสบปัญหาและขาดประสิทธิภาพ เนื่องจากลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่ถูกพิพากษาให้ขับไล่หรือต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากอสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่อาศัยหรือทรัพย์ที่ครอบครองไม่ยอมปฏิบัติตามคำบังคับของศาลโดยใช้วิธีหลีกเลี่ยงต่าง ๆ
               สมควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในส่วนที่เกี่ยวกับกรณีดังกล่าวเสียใหม่เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งและการบังคับคดีในคดีฟ้องขับไล่มีประสิทธิภาพสามารถอำนวยความยุติธรรมมากขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น

  • พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2530

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากได้มีการประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติถึงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเสนอข้อพิพาท การพิจารณา การทำคำชี้ขาด และการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนอกศาลไว้โดยเฉพาะแล้ว สมควรยกเลิกบทบัญญัติว่าด้วยอนุญาโตตุลาการนอกศาลในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (มาตรา 221) จึงเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

  • พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2534

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่บทบัญญัติว่าด้วยเขตอำนาจศาลในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันได้ก่อให้เกิดปัญหาและความไม่เป็นธรรม เนื่องจากโจทก์ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรไม่สามารถฟ้องคดีจำเลยซึ่งไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรได้ตราบใดที่ยังไม่สามารถส่งหมายเรียกให้แก่จำเลยในราชอาณาจักรได้ แต่ในทางกลับกันโจทก์หรือจำเลยซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในต่างประเทศสามารถฟ้องจำเลยหรือฟ้องแย้งโจทก์ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรได้ และบทบัญญัติเรื่องเขตอำนาจศาลโดยทั่วไปยังไม่เหมาะสมก่อให้เกิดความไม่สะดวกในการดำเนินคดีในศาลประกอบกับในปัจจุบันยังไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการส่งคำคู่ความและเอกสารให้แก่จำเลยหรือบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้องซึ่งไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรไว้โดยตรงคงอาศัยวิธีปฏิบัติของกระทรวงยุติธรรมและกระทรวงการต่างประเทศเป็นสำคัญซึ่งต้องใช้เวลานานมากและในบางครั้งก็ไม่อาจส่งให้แก่บุคคลดังกล่าวได้ ทำให้การดำเนินคดีเป็นไปได้ด้วยความล่าช้าและยุ่งยาก นอกจากนี้ การพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นบางคดีได้ประสบความล่าช้าเนื่องจากการประวิงคดีของคู่ความบางฝ่าย ทั้งหลักเกณฑ์การฟ้องคดีมโนสาเร่และคดีไม่มีข้อยุ่งยากที่ใช้บังคับอยู่มีข้อบกพร่องไม่สามารถนำมาบังคับใช้กับสภาพเศรษฐกิจและสังคมขณะนี้ได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ และคดีที่ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาก็ได้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากทำให้ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาไม่สามารถพิจารณาพิพากษาคดีให้เสร็จลุล่วงไปได้โดยรวดเร็วทำให้คดีค้างพิจารณาอยู่เป็นจำนวนมาก เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้น สมควรปรับปรุงบทบัญญัติว่าด้วยเขตอำนาจศาลโดยกำหนดให้โจทก์สามารถฟ้องคดีจำเลยซึ่งไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม และกำหนดให้การฟ้องคดีหรือการร้องขอต่อศาลโดยทั่วไปเป็นไปโดยสะดวกและเป็นธรรมยิ่งขึ้น และสมควรเพิ่มเติมบทบัญญัติว่าด้วยการส่งคำคู่ความและเอกสารให้แก่จำเลยซึ่งไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร โดยกำหนดให้การส่งคำคู่ความและเอกสารดังกล่าวเป็นไปโดยสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น กับแก้ไขปรับปรุงให้ศาลมีดุลพินิจในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าอัตราที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามกฎหมายในกรณีที่จำเลยต้องชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ในกรณีที่ศาลเห็นว่าจำเลยมีพฤติการณ์ประวิงคดีให้ล่าช้าโดยไม่สุจริต ปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการฟ้องคดีมโนสาเร่และคดีไม่มีข้อยุ่งยากให้ทำได้กว้างขวางและสะดวกรวดเร็วขึ้น และปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการอุทธรณ์ฎีกาให้ทำได้เฉพาะคดีที่มีเหตุผลสมควรที่จะขึ้นสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์และศาลฎีการวมทั้งแก้ไขบทบัญญัติอื่นที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกันด้วย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น

  • พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2535

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันได้กำหนดให้มีกระบวนพิจารณาชั้นชี้สองสถานเพื่อประโยชน์ในการทำให้การพิจารณาคดีสะดวกและรวดเร็วขึ้น แต่บทบัญญัติดังกล่าวไม่สามารถปฏิบัติให้สมประโยชน์ได้เพราะกำหนดให้เป็นดุลพินิจของศาลที่จะทำการชี้สองสถานหรือไม่ก็ได้ และไม่มีสภาพบังคับให้คู่ความต้องมาศาลในวันชี้สองสถาน หากไม่มาคู่ความก็ไม่เสียสิทธิในการดำเนินกระบวนการพิจารณาแต่อย่างใด นอกจากนี้ บทบัญญัติเกี่ยวกับการอ้างพยานหลักฐานและการส่งพยานหลักฐานไม่รัดกุมและเอื้ออำนวยแก่การชี้สองสถานกล่าวคือ เปิดโอกาสให้มีการอ้างพยานหลักฐานกันอย่างฟุ่มเฟือย หรืออ้างพยานหลักฐานที่อยู่ในความครอบครองของบุคคลภายนอก หรือระบุอ้างพยานที่จะต้องส่งประเด็นไปสืบยังศาลอื่นไว้มากเกินความจำเป็น หรือระบุอ้างในลักษณะเป็นการประวิงคดีทำให้การพิจารณาคดีล่าช้า และไม่ให้โอกาสศาลได้ทราบถึงพยานหลักฐานของคู่ความก่อนวันชี้สองสถาน เพื่อให้ศาลสามารถสอบถามให้คู่ความรับกันได้ในบางประเด็นหรือทุกประเด็น อันจะทำให้สามารถตัดประเด็นที่ไม่จำเป็นออกและกำหนดประเด็นข้อพิพาทและหน้าที่นำสืบได้อย่างถูกต้องครบถ้วนทำให้คดีเสร็จไปโดยรวดเร็ว อีกทั้งบทบัญญัติว่าด้วยการประชุมใหญ่ของศาลฎีกายังไม่คลุมถึงกรณีที่มีกฎหมายกำหนดให้มีการวินิจฉัยปัญหาโดยที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา สมควรกำหนดให้ศาลทำการชี้สองสถานทุกคดี เว้นแต่คดีที่ไม่มีความจำเป็น และกำหนดให้คู่ความทุกฝ่ายยื่นคำแถลงเสนอประเด็นข้อพิพาท ยื่นบัญชีระบุพยาน และส่งสำเนาพยานเอกสารที่ได้อ้างอิงไว้ต่อศาลก่อนวันชี้สองสถานเพื่อให้ศาลทราบถึงพยานหลักฐานของคู่ความและสามารถกำหนดประเด็นข้อพิพาทและหน้าที่นำสืบได้อย่างถูกต้องครบถ้วน รวมทั้งกำหนดให้มีการยื่นต้นฉบับพยานเอกสารและพยานวัตถุที่สำคัญต่อศาลในวันชี้สองสถาน เพื่อให้คู่ความสามารถแสดงพยานหลักฐานหักล้างกันในประเด็นข้อพิพาท สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติว่าด้วยการประชุมใหญ่ของศาลฎีกาให้คลุมถึงกรณีที่มีกฎหมายกำหนดให้มีการวินิจฉัยปัญหาโดยที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาและสมควรแก้ไขบทบัญญัติอื่นที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกันด้วย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น

  • พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2538

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการชี้สองสถานและระยะเวลาในการยื่นบัญชีระบุพยานตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในปัจจุบันยังไม่เหมาะสม ไม่ช่วยทำให้การพิจารณาคดีสะดวกและรวดเร็วขึ้นตามที่มุ่งหมายไว้ สมควรแก้ไขหลักเกณฑ์ดังกล่าวให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น

  • พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 15) พ.ศ. 2538

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาเสียใหม่ โดยกำหนดให้จำเลยมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้โจทก์วางเงินต่อศาลหรือหาประกันมาให้เพื่อการชำระค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์หรือชั้นฎีกาได้ด้วย ทั้งนี้ เพื่อความเป็นธรรมแก่จำเลยในกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงในชั้นการพิจารณาของศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาว่าโจทก์จะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าฤชาธรรมเนียมและปรับปรุงวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาให้คลุมถึงการขอให้ระงับ แก้ไข หรือเพิกถอน การดำเนินการทางทะเบียนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่พิพาทหรือทรัพย์สินของจำเลยหรือที่เกี่ยวกับการกระทำที่ถูกฟ้องร้อง กับแก้ไขผลบังคับของคำสั่งศาลตามคำขอในวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่พิพาทหรือทรัพย์สินของจำเลย ให้มีผลใช้บังคับได้ทันที รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติอื่นที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกันด้วย เพื่อให้มาตรการในการคุ้มครองโจทก์ในระหว่างการพิจารณาของศาลและการบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาลเป็นไปโดยมีประสิทธิภาพ ตลอดจนเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ให้จำเลยมีสิทธิจะขอให้ศาลสั่งให้โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการถูกบังคับโดยวิธีการชั่วคราว และการพิจารณาคำขอดังกล่าว เพื่อให้การคุ้มครองสิทธิของจำเลยชัดเจนยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

  • พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2539

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 87 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยกำหนดให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจควบคุมตัวผู้ถูกจับในกรณีที่มีเหตุจำเป็นไว้ได้ไม่เกินสามวัน และแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 โดยกำหนดให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมด้วยสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการเพื่อให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแขวงให้ทันภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหาถูกจับ อันมีผลให้ศาลต้องเปิดทำการในวันหยุดงานหรือในเวลาใด ๆ นอกเวลาทำการปกติ สมควรกำหนดให้ผู้พิพากษาและเจ้าพนักงานศาลได้รับเงินค่าตอบแทนการปฏิบัติงานในวันหยุดราชการ หรือในเวลาใด ๆ นอกเวลาทำงานได้ตามระเบียบที่กระทรวงยุติธรรมกำหนด จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

  • พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2542

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีมโนสาเร่ที่ใช้อยู่ยังไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทำให้การพิจารณาคดีล่าช้า และคู่ความต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงเกินสมควรเมื่อคำนึงถึงทุนทรัพย์ในคดีที่พิพาทกัน สมควรแก้ไขปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับวิธีพิจารณาคดีมโนสาเร่ให้เหมาะสมขึ้น โดยให้ศาลดำเนินการไกล่เกลี่ยและเข้าช่วยเหลือคู่ความซึ่งไม่มีความรู้ทางกฎหมายได้ เพื่อให้คดีได้เสร็จสิ้นไปโดยเร็วและประหยัดค่าใช้จ่ายของคู่ความ ทั้งสมควรแก้ไขปรับปรุงบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งบางมาตราที่เกี่ยวกับอำนาจและหน้าที่ของศาล และการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้เหมาะสมและสอดคล้องกันด้วย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

  • พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2542

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในส่วนที่เกี่ยวกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งบางเรื่องไม่เหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบัน ทำให้การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลเป็นไปโดยล่าช้า สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในส่วนที่เกี่ยวกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

  • พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2543

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในส่วนที่เกี่ยวกับการพิจารณาโดยขาดนัดที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีความล้าสมัยและไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน อีกทั้งมีบทบัญญัติที่ขาดความชัดเจนในหลายประการ เป็นเหตุให้การดำเนินคดีในกรณีที่คู่ความขาดนัดยื่นคำให้การหรือขาดนัดพิจารณาเป็นไปโดยล่าช้าและมีข้อโต้แย้งที่คู่ความอาจใช้เป็นช่องทางในการประวิงคดีได้ สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในส่วนที่เกี่ยวกับการพิจารณาโดยขาดนัดให้เหมาะสมและชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อให้ศาลสามารถพิพากษาให้คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายชนะคดีไปได้ เมื่อคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งขาดนัดยื่นคำให้การ และเพื่อให้กระบวนพิจารณาพิพากษาคดีที่คู่ความขาดนัดยื่นคำให้การ หรือขาดนัดพิจารณาเป็นไปด้วยความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย รวมทั้งรวดเร็ว ประหยัด และชัดเจนแน่นอนยิ่งขึ้น อันจะเป็นหลักประกันการใช้สิทธิเรียกร้องของโจทก์และการคุ้มครองสิทธิของจำเลย ตลอดจนทำให้คดีที่ค้างการพิจารณาในศาลลดน้อยลง จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

  • พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2543

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา 275 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรมกำหนดให้สำนักงานศาลยุติธรรมเป็นหน่วยงานธุรการอิสระของศาลยุติธรรม แต่มิได้กำหนดให้กรมบังคับคดีเป็นหน่วยงานธุรการของศาลยุติธรรม กรมบังคับคดีจึงยังอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงยุติธรรม ดังนั้น สมควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในส่วนที่เกี่ยวกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

  • พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 21) พ.ศ. 2547

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่บทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในส่วนที่เกี่ยวกับการงดการบังคับคดีของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและการขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันบางส่วนยังไม่ชัดเจนเพียงพอ ดังนั้นเพื่อให้การบังคับคดีเป็นไปด้วยความเป็นธรรมโดยคุ้มครองสิทธิของบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีและให้การขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาสามารถดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็วและเป็นธรรมแก่ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ว่าด้วยการขายทอดตลาด สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติดังกล่าวให้เหมาะสมและมีความชัดเจนยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

  • พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 22) พ.ศ. 2548

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่บทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในส่วนที่เกี่ยวกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ใช้บังคับอยู่มีความไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบัน เป็นเหตุให้การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นไปด้วยความล่าช้า และคุ้มครองสิทธิของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่เพียงพอ ประกอบกับตาราง 5 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งได้กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีสูงเกินไป สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในส่วนที่เกี่ยวกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งและอัตราค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

  • พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 23) พ.ศ. 2550

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในภาค 1 ลักษณะ 5 ว่าด้วยพยานหลักฐานแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งให้ทันสมัยและสอดคล้องกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาด้านเทคโนโลยีของประเทศในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

  • พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2551

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในส่วนที่เกี่ยวกับค่าฤชาธรรมเนียมยังมีความไม่เหมาะสมหลายประการ และไม่ได้แยกค่าฤชาธรรมเนียมในการพิจารณาคดีออกจากค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดี รวมทั้งอัตราค่าฤชาธรรมเนียมในตารางท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจาณาความแพ่งใช้บังคับมาเป็นเวลานานไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมและตารางท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น นอกจากนี้ สมควรกำหนดให้หลักเกณฑ์และวิธีการในการไกล่เกลี่ยของศาล การแต่งตั้งผู้ประนีประนอม รวมทั้งอำนาจหน้าที่ของผู้ประนีประนอม เป็นไปตามที่กำหนดในข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา และแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การขอเลื่อนการนั่งพิจารณาและการพิจารณาคำขอเลื่อนการนั่งพิจารณาให้เคร่งครัดยิ่งขึ้น ตลอดจนแก้ไขเพิ่มเติมการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีมโนสาเร่และคดีไม่มีข้อยุ่งยากให้ชัดเจนขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

  • พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 25) พ.ศ. 2551

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในส่วนที่เกี่ยวกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง มิได้กำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นเจ้าพนักงานศาล และมิได้มีบทบัญญัติกำหนดวิธีการส่งเอกสารเกี่ยวกับการบังคับคดีให้ชัดเจน เป็นเหตุให้การบังคับคดีเป็นไปโดยล่าช้าและมีข้อโต้แย้ง สมควรกำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีสถานะเสมือนเป็นเจ้าพนักงานศาลและกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการส่งเอกสารเกี่ยวกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งและการรายงานการส่งเอกสารโดยเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ชัดเจน เพื่อให้การบังคับคดีดำเนินไปด้วยความเป็นธรรม สะดวก รวดเร็ว และประหยัดยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

  • พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2558

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่การดำเนินคดีแบบกลุ่มเป็นกระบวนการดำเนินคดีที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน เนื่องจากเป็นวิธีการที่สามารถคุ้มครองผู้เสียหายจำนวนมากได้ในการดำเนินคดีเพียงครั้งเดียว และสามารถอำนวยความยุติธรรมให้แก่ผู้เสียหายที่ไม่มีความสามารถฟ้องคดีเพื่อเยียวยาความเสียหายด้วยตนเองได้หรือผู้เสียหายที่ได้รับความเสียหายจำนวนเพียงเล็กน้อย เช่น คดีที่ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย การดำเนินคดีแบบกลุ่มจึงเป็นมาตรการที่สร้างความเข้มแข็งให้แก่ประชาชนผู้ด้อยโอกาสในสังคมได้เป็นอย่างดี ประกอบกับการดำเนินคดีแบบกลุ่มเป็นวิธีการที่ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ และยังช่วยหลีกเลี่ยงความซ้ำซ้อนในการฟ้องคดีและป้องกันความขัดแย้งกันของคำพิพากษาตลอดจนเป็นมาตรการในการลดปริมาณคดีที่จะขึ้นสู่ศาลได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกทางหนึ่ง สมควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเพื่อกำหนดกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการดำเนินคดีแบบกลุ่ม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

  • พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 27) พ.ศ. 2558

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่บทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจาณาความแพ่งในส่วนการฎีกาไม่สามารถกลั่นกรองคดีที่ไม่เป็นสาระอันควรแก่การวินิจฉัยของศาลฎีกาได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ ทำให้การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลฎีกาเกิดความล่าช้า ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและความศรัทธาที่มีต่อระบบศาลยุติธรรม ดังนั้น เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลฎีกาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพให้ความเป็นธรรมแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้อย่างแท้จริงและรวดเร็วขึ้น สมควรกำหนดให้ศาลฎีกามีอำนาจพิจารณาว่าคดีที่ได้ยื่นฎีกาใดสมควรอนุญาตให้ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกา จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

  • พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 28) พ.ศ. 2558

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ปัจจุบันมีคดีแพ่งที่เกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะหรือประโยชน์ของสังคมเป็นส่วนรวม เช่น คดีสิ่งแวดล้อม คดีคุ้มครองผู้บริโภค เข้าสู่การพิจารณาของศาลเป็นจำนวนมาก ซึ่งคดีเหล่านี้เป็นคดีที่มีความยุ่งยากซับซ้อน สมควรกำหนดให้สามารถโอนคดีเหล่านี้ไปยังศาลแพ่งเป็นผู้พิจารณาพิพากษาคดี โดยกำหนดให้ศาลแพ่งที่รับคดีไว้มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณานอกเขตศาลได้เพื่อให้องค์คณะผู้พิพากษาสามารถออกไปสืบพยานที่อยู่นอกเขตอำนาจด้วยตนเองได้ และกำหนดให้ประธานศาลฎีกาโดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามีอำนาจออกข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีแพ่งอันจะช่วยให้การพิจารณาพิพากษาคดีเกิดความเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ สมควรแก้ไขเพิ่มเติมการเก็บรักษาข้อมูลคดีของศาลโดยการจัดเก็บในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และใช้สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือในการส่งคำคู่ความและเอกสารระหว่างศาลกับคู่ความ หรือระหว่างคู่ความด้วยกัน และกำหนดวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการส่งหมายเรียกและคำฟ้องตั้งต้นคดีไปยังจำเลยหรือบุคคลภายนอกที่อยู่นอกราชอาณาจักรเพื่อให้มีความสะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

  • พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 29) พ.ศ. 2558

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ปัจจุบันการขายทอดตลาดห้องชุดในอาคารชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุดและที่ดินจัดสรรตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน ซึ่งมีการค้างชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ไม่เป็นที่น่าสนใจของตลาดเท่าที่ควร เพราะผู้ซื้อได้จะต้องรับผิดชอบภาระค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่ค้างชำระแทนลูกหนี้ตามคำพิพากษา สมควรเพิ่มมาตรา 309 จัตวา เพื่อให้ผู้ซื้อห้องชุดในอาคารชุดและที่ดินจัดสรรจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับความเป็นธรรมยิ่งขึ้น และเพื่อลดอุปสรรคในการขายทอดตลาดห้องชุดและที่ดินจัดสรรให้สามารถจำหน่ายออกไปได้ภายในระยะเวลาที่รวดเร็ว ส่งผลดีต่อผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีและระบบเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

  • พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2560

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่บทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในส่วนที่เกี่ยวกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ใช้บังคับอยู่บางส่วนไม่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน ทำให้การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลเป็นไปโดยล่าช้า ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนผู้มีอรรถคดี และเปิดโอกาสให้มีการประวิงคดี สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในส่วนที่เกี่ยวกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาและคำสั่งให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

  • พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 31) พ.ศ. 2562

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การวินิจฉัยปัญหาโดยที่ประชุมใหญ่ในศาลชั้นอุทธรณ์และศาลฎีกา และให้มีการวินิจฉัยปัญหาโดยที่ประชุมแผนกคดีของศาลชั้นอุทธรณ์และศาลฎีกา เพื่อให้สอดคล้องกับโครงสร้างศาลและระบบวิธีพิจารณาคดีพิเศษที่เปลี่ยนแปลงไปตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมและกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลและวิธีพิจารณาคดีพิเศษต่าง ๆ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

  • พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 32) พ.ศ. 2563

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรส่งเสริมให้มีระบบการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องคดีเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ที่มีกรณีพิพาททางแพ่งใช้เป็นช่องทางในการยุติข้อพิพาทก่อนที่จะมีการฟ้องคดี โดยคู่กรณีสามารถร้องขอให้ศาลแต่งตั้งผู้ประนีประนอมดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและหากตกลงกันได้ก็อาจขอให้ศาลมีคำพิพากษาตามยอมได้ทันที ทำให้ข้อพิพาททางแพ่งสามารถยุติลงได้ในเวลาอันรวดเร็วโดยไม่จำเป็นต้องมีการฟ้องคดี อีกทั้งเป็นการประหยัดเวลาและทรัพยากรต่าง ๆ ที่จะต้องสูญเสียในการดำเนินคดีอันจะยังประโยชน์แก่ระบบเศรษฐกิจและสังคม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
------------------------------