ส่วนที่ 4 สาบสูญ
----------------------------
มาตรา 48 ถ้าบุคคลใดไปเสียจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่โดยมิได้ตั้งตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปไว้ และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ ศาลจะสั่งให้ทำการอย่างหนึ่งอย่างใดไปพลางก่อนตามที่จำเป็นเพื่อจัดการทรัพย์สินของบุคคลผู้ไม่อยู่นั้นก็ได้
เมื่อเวลาได้ล่วงเลยไปหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้ไม่อยู่นั้นไปเสียจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีผู้ใดได้รับข่าวเกี่ยวกับบุคคลนั้นประการใดเลยก็ดี หรือหนึ่งปีนับแต่วันมีผู้ได้พบเห็นหรือได้ทราบข่าวมาเป็นครั้งหลังสุดก็ดี เมื่อบุคคลตามวรรคหนึ่งร้องขอ ศาลจะตั้งผู้จัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ขึ้นก็ได้
มาตรา 49 ในกรณีที่ผู้ไม่อยู่ได้ตั้งตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปไว้ และสัญญาตัวแทนระงับสิ้นไป หรือปรากฏว่าตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปได้จัดการทรัพย์สินนั้นในลักษณะที่อาจเสียหายแก่บุคคลดังกล่าว ให้นำมาตรา 48 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา 50 เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ ศาลจะสั่งให้ตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปจัดทำบัญชีทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ขึ้นตามที่ศาลจะมีคำสั่งก็ได้
มาตรา 51 ภายใต้บังคับมาตรา 802 ถ้าตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปเห็นเป็นการจำเป็นจะต้องทำการอันใดอันหนึ่งเกินขอบอำนาจที่ได้รับไว้ ต้องขออนุญาตต่อศาล และเมื่อศาลสั่งอนุญาตแล้วจึงจะกระทำการนั้นได้
มาตรา 52 ผู้จัดการทรัพย์สินที่ศาลได้ตั้งขึ้น ต้องทำบัญชีทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ให้เสร็จภายในสามเดือนนับแต่วันทราบคำสั่งตั้งของศาล แต่ผู้จัดการทรัพย์สินจะร้องขอต่อศาลให้ขยายเวลาก็ได้
มาตรา 53 บัญชีทรัพย์สินตามมาตรา 50 และมาตรา 52 ต้องมีพยานลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องอย่างน้อยสองคน พยานสองคนนั้นต้องเป็นคู่สมรสหรือญาติของผู้ไม่อยู่ซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว แต่ถ้าไม่มีคู่สมรสหรือหาญาติไม่ได้ หรือคู่สมรสและญาติไม่ยอมเป็นพยาน จะให้ผู้อื่นซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วเป็นพยานก็ได้
มาตรา 54 ผู้จัดการทรัพย์สินมีอำนาจหน้าที่อย่างเดียวกับตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปตามมาตรา 801 และมาตรา 802 ถ้าผู้จัดการทรัพย์สินเห็นเป็นการจำเป็นจะต้องทำการอันใดอันหนึ่งเกินขอบอำนาจ ต้องขออนุญาตต่อศาล และเมื่อศาลสั่งอนุญาตแล้วจึงจะกระทำการนั้นได้
มาตรา 55 ถ้าผู้ไม่อยู่ได้ตั้งตัวแทนผู้รับมอบอำนาจเฉพาะการอันใดไว้ ผู้จัดการทรัพย์สินจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับการอันเป็นอำนาจเฉพาะการนั้นไม่ได้ แต่ถ้าปรากฏว่าการที่ตัวแทนจัดทำอยู่นั้นอาจจะเสียหายแก่ผู้ไม่อยู่ ผู้จัดการทรัพย์สินจะร้องขอให้ศาลถอดถอนตัวแทนนั้นเสียก็ได้
มาตรา 56 เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ หรือเมื่อศาลเห็นสมควรศาลอาจสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
(1) ให้ผู้จัดการทรัพย์สินหาประกันอันสมควรในการจัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ตลอดจนการมอบคืนทรัพย์สินนั้น
(2) ให้ผู้จัดการทรัพย์สินแถลงถึงความเป็นอยู่แห่งทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่
(3) ถอดถอนผู้จัดการทรัพย์สิน และตั้งผู้อื่นให้เป็นผู้จัดการทรัพย์สินแทนต่อไป
มาตรา 57 ในคำสั่งตั้งผู้จัดการทรัพย์สิน ศาลจะกำหนดบำเหน็จให้แก่ผู้จัดการทรัพย์สินโดยจ่ายจากทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่นั้นก็ได้ ถ้าศาลมิได้กำหนด ผู้จัดการทรัพย์สินจะร้องขอต่อศาลให้กำหนดบำเหน็จในภายหลังก็ได้
ถ้าผู้จัดการทรัพย์สิน หรือผู้มีส่วนได้เสีย หรือพนักงานอัยการร้องขอ หรือเมื่อมีกรณีปรากฏแก่ศาลว่า พฤติการณ์เกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินได้เปลี่ยนแปลงไป ศาลจะสั่งกำหนดบำเหน็จ งด ลด เพิ่ม หรือกลับให้บำเหน็จแก่ผู้จัดการทรัพย์สินอีกก็ได้
มาตรา 58 ความเป็นผู้จัดการทรัพย์สินย่อมสิ้นสุดลงในกรณี ดังต่อไปนี้
(1) ผู้ไม่อยู่นั้นกลับมา
(2) ผู้ไม่อยู่นั้นมิได้กลับมาแต่ได้จัดการทรัพย์สินหรือตั้งตัวแทนเพื่อจัดการทรัพย์สินของตนแล้ว
(3) ผู้ไม่อยู่ถึงแก่ความตายหรือศาลมีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญ
(4) ผู้จัดการทรัพย์สินลาออกหรือถึงแก่ความตาย
(5) ผู้จัดการทรัพย์สินเป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(6) ผู้จัดการทรัพย์สินเป็นบุคคลล้มละลาย
(7) ศาลถอดถอนผู้จัดการทรัพย์สิน
มาตรา 59 ในกรณีที่ความเป็นผู้จัดการทรัพย์สินสิ้นสุดลงเพราะเหตุตามมาตรา 58 (4) (5) หรือ (6) ผู้จัดการทรัพย์สินหรือทายาทของผู้จัดการทรัพย์สิน ผู้จัดการมรดก ผู้อนุบาล ผู้พิทักษ์ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ หรือผู้มีหน้าที่ดูแลทรัพย์สินของผู้จัดการทรัพย์สิน แล้วแต่กรณี จะต้องแถลงให้ศาลทราบถึงความสิ้นสุดนั้นโดยไม่ชักช้าเพื่อศาลจะได้มีคำสั่งเกี่ยวกับผู้จัดการทรัพย์สินต่อไปตามที่เห็นสมควร ในระหว่างเวลาดังกล่าวนั้น บุคคลดังกล่าวจะต้องจัดการตามควรแก่พฤติการณ์เพื่อรักษาประโยชน์ของผู้ไม่อยู่ จนกว่าจะได้ส่งมอบทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ให้แก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดตามที่ศาลจะได้มีคำสั่ง
มาตรา 60 ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยตัวแทนแห่งประมวลกฎหมายนี้ มาใช้บังคับแก่การจัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่โดยอนุโลม
มาตรา 61 ถ้าบุคคลใดได้ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ตลอดระยะเวลาห้าปี เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้
ระยะเวลาตามวรรคหนึ่งให้ลดเหลือสองปี
(1) นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงคราม และหายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว
(2) นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทาง อับปาง ถูกทำลาย หรือสูญหายไป
(3) นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) หรือ (2) ได้ผ่านพ้นไป ถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น
มาตรา 62 บุคคลซึ่งศาลได้มีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญ ให้ถือว่าถึงแก่ความตายเมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังที่ระบุไว้ในมาตรา 61
มาตรา 63 เมื่อบุคคลผู้ถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญนั้นเองหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอต่อศาล และพิสูจน์ได้ว่าบุคคลผู้ถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญนั้นยังคงมีชีวิตอยู่ก็ดี หรือว่าตายในเวลาอื่นผิดไปจากเวลาดังระบุไว้ในมาตรา 62 ก็ดี ให้ศาลสั่งถอนคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญนั้น แต่การถอนคำสั่งนี้ย่อมไม่กระทบกระเทือนถึงความสมบูรณ์แห่งการทั้งหลายอันได้ทำไปโดยสุจริตในระหว่างเวลาตั้งแต่ศาลมีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญจนถึงเวลาถอนคำสั่งนั้น
บุคคลผู้ได้ทรัพย์สินมาเนื่องแต่การที่ศาลสั่งให้บุคคลใดเป็นคนสาบสูญ แต่ต้องเสียสิทธิของตนไปเพราะศาลสั่งถอนคำสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญ ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้แห่งประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา 64 คำสั่งศาลให้เป็นคนสาบสูญหรือคำสั่งถอนคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญ ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
-----------------------------
คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7353/2550 ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า จำเลยซึ่งเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายได้ออกไปจากภูมิลำเนาและไม่ได้กลับมาอีกเป็นเวลา 1 ปีเศษ โดยไม่ทราบว่าจำเลยเป็นตายร้ายดีประการใด จำเลยไม่อาจยื่นคำให้การต่อสู้คดีได้ ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้องสอดเข้าเป็นจำเลยร่วมโดยผู้ร้องได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดีมาพร้อมคำร้อง เป็นกรณีที่ผู้ร้องอ้างว่าจำเลยไปเสียจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ โดยมิได้ตั้งตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปไว้ และไม่มีใครรู้แน่ว่าจำเลยยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ หากข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำร้องก็ชอบที่ศาลจะมีคำสั่งให้ผู้ร้องทำการอย่างหนึ่งอย่างใดไปพลางก่อนตามที่จำเป็นเพื่อจัดการทรัพย์สินของจำเลยตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 48 วรรคหนึ่ง ศาลชั้นต้นชอบที่จะไต่สวนคำร้องของผู้ร้องให้ได้ข้อเท็จจริงเป็นที่แน่ชัดเสียก่อน การที่ศาลชั้นต้นด่วนมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องโดยมิได้ไต่สวนคำร้องเสียก่อนเช่นนี้เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติ แห่ง ป.วิ.พ. ว่าด้วยการพิจารณา ชอบที่ศาลอุทธรณ์จะพิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นแล้วให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคำร้องของผู้ร้องและมีคำสั่งใหม่ การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นจึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติ แห่ง ป.วิ.พ. ว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) ประกอบมาตรา 247 ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1112/2546 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ในคดีนี้ซึ่งเป็นหนี้ค่าจ้างก่อสร้างอาคารโรงเรียนเทคโนโลยี ร. การที่ ผู้ร้องยื่นคำร้องขอจัดการกิจการโรงเรียนเทคโนโลยี ฉ. แทนจำเลยผู้ไม่อยู่ชั่วคราว จนกว่าจำเลยจะกลับมา และผู้ร้องได้รับแต่งตั้งจากศาลให้เป็นผู้จัดการกิจการของโรงเรียนเทคโนโลยี ฉ. ย่อมมีความหมายอยู่ในตัวว่า ผู้ร้องมีอำนาจ จัดการแต่เฉพาะในกิจการของโรงเรียนเทคโนโลยี ฉ. อันเป็นกรณีที่ศาลสั่งให้ทำการอย่างหนึ่งอย่างใดไปพลางก่อนตามที่จำเป็นเพื่อจัดการทรัพย์สินของจำเลยผู้ไม่อยู่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 48 วรรคหนึ่ง หาใช่กรณีที่ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของจำเลยผู้ไม่อยู่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 48 วรรคสอง อันจะทำให้ผู้ร้องมีอำนาจหน้าที่อย่างเดียวกับ ตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปไม่แม้ในเหตุฉุกเฉินผู้ร้องก็ไม่อาจจะก้าวล่วงไปจัดการในกิจการอื่นของจำเลยได้ ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจที่จะยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีนี้ใหม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1388/2525 ธ. ไม่มีส่วนเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท ไม่ปรากฏว่าเป็นหุ้นส่วนลงทุนในการก่อสร้างห้องแถว จำเลยมิได้โต้แย้งสิทธิของ ธ. แต่อย่างใด ธ.จึงไม่มีอำนาจฟ้องในฐานะส่วนตัว เมื่อ ธ. มิได้ยื่นคำร้องขออนุญาตต่อศาล และไม่ปรากฏว่าศาลได้อนุญาตให้ฟ้องคดีในฐานะผู้จัดการทรัพย์สินของ ก.ผู้ไม่อยู่ได้ ธ. จึงไม่มีอำนาจฟ้องในฐานะดังกล่าว จะถือว่าการที่ศาลชั้นต้นรับคำฟ้องเท่ากับเป็นการอนุญาตให้โจทก์ฟ้องในฐานะดังกล่าวหาได้ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2739/2556 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 บัญญัติว่า "ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการจะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกก็ได้ ในกรณีดังต่อไปนี้ (1) เมื่อเจ้ามรดกตาย..." หมายความว่าในขณะยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกต้องปรากฏว่าเจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงตามคำร้องขอและตามทางไต่สวนได้ความว่า ขณะยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกของ บ. ศาลยังมิได้มีคำสั่งว่า บ. เป็นคนสาบสูญ จึงถือไม่ได้ว่า บ. ถึงแก่ความตายแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 61 และ 62 ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกของ บ. มาพร้อมกับขอให้ศาลสั่งให้ บ. เป็นคนสาบสูญ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5513/2552 ล. ถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญมีผลเท่ากับ ล.ถึงแก่ความตาย และเมื่อ ล.เป็นสมาชิกของจำเลย ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับเงินฌาปนกิจสงเคราะห์เพื่อจัดการศพและสงเคราะห์ครอบครัว โดยโจทก์ซึ่งเป็นภริยา ล. เป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ดังกล่าว ข้ออ้างของจำเลยว่า หากไร้ซึ่งศพที่จะต้องจัดการแล้วจำเลยไม่อาจจ่ายเงินค่าจัดการศพได้นั้น รับฟังไม่ได้ ดังนั้น การเป็นคนสาบสูญตามคำสั่งศาลเป็นเหตุให้จำเลยต้องจ่ายเงินฌาปนกิจสงเคราะห์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5770/2548 ช. เดินทางออกจากบ้านโดยใช้รถยนต์กระบะ แล้วสูญหายไป ภายหลังพนักงานของบริษัทพบรถยนต์กระบะที่ ช. เช่าซื้อไปจอดอยู่ที่ด่านทางออกไปสหภาพพม่าจึงยึดรถยนต์กลับคืนมา การที่พบรถยนต์ซึ่งเป็นยานพาหนะที่ใช้เดินทาง จึงมิใช่ยานพาหนะที่ ช. เดินทางสูญหาย อันจะเข้าหลักเกณฑ์ระยะเวลา 2 ปี ที่จะต้องขอให้เป็นคนสาบสูญตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 61 วรรคสอง แต่เป็นกรณีที่จะต้องใช้หลักเกณฑ์ระยะเวลา 5 ปี ตามมาตรา 61 วรรคหนึ่ง
-------------------------------
0 ความคิดเห็น