หมวด ๑ ก่อให้เกิดสัญญา
-------------------------
มาตรา ๓๕๔ คำเสนอจะทำสัญญาอันบ่งระยะเวลาให้ทำคำสนองนั้น ท่านว่าไม่อาจจะถอนได้ภายในระยะเวลาที่บ่งไว้
มาตรา ๓๕๕ บุคคลทำคำเสนอไปยังผู้อื่นซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทาง และมิได้บ่งระยะเวลาให้ทำคำสนอง จะถอนคำเสนอของตนเสียภายในเวลาอันควรคาดหมายว่าจะได้รับคำบอกกล่าวสนองนั้น ท่านว่าหาอาจจะถอนได้ไม่
มาตรา ๓๕๖ คำเสนอทำแก่บุคคลผู้อยู่เฉพาะหน้า โดยมิได้บ่งระยะเวลาให้ทำคำสนองนั้น เสนอ ณ ที่ใดเวลาใดก็ย่อมจะสนองรับได้แต่ ณ ที่นั้นเวลานั้น ความข้อนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงการที่บุคคลคนหนึ่งทำคำเสนอไปยังบุคคลอีกคนหนึ่งทางโทรศัพท์ด้วย
มาตรา ๓๕๗ คำเสนอใดเขาบอกปัดไปยังผู้เสนอแล้วก็ดี หรือมิได้สนองรับภายในเวลากำหนดดังกล่าวมาในมาตราทั้งสามก่อนนี้ก็ดี คำเสนอนั้นท่านว่าเป็นอันสิ้นความผูกพันแต่นั้นไป
มาตรา ๓๕๘ ถ้าคำบอกกล่าวสนองมาถึงล่วงเวลา แต่เป็นที่เห็นประจักษ์ว่าคำบอกกล่าวนั้นได้ส่งโดยทางการ ซึ่งตามปรกติควรจะมาถึงภายในกำหนดไซร้ ผู้เสนอต้องบอกกล่าวแก่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งโดยพลันว่าคำสนองนั้นมาถึงเนิ่นช้า เว้นแต่จะได้บอกกล่าวเช่นนั้นก่อนแล้ว
ถ้าผู้เสนอละเลยไม่บอกกล่าวดังว่ามาในวรรคต้น ท่านให้ถือว่าคำบอกกล่าวสนองนั้นมิได้ล่วงเวลา
มาตรา ๓๕๙ ถ้าคำสนองมาถึงล่วงเวลา ท่านให้ถือว่าคำสนองนั้นกลายเป็นคำเสนอขึ้นใหม่
คำสนองอันมีข้อความเพิ่มเติม มีข้อจำกัด หรือมีข้อแก้ไขอย่างอื่นประกอบด้วยนั้น ท่านให้ถือว่าเป็นคำบอกปัดไม่รับ ทั้งเป็นคำเสนอขึ้นใหม่ด้วยในตัว
มาตรา ๓๖๐ บทบัญญัติแห่งมาตรา ๑๖๙ วรรคสอง นั้น ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าหากว่าขัดกับเจตนาอันผู้เสนอได้แสดง หรือหากว่าก่อนจะสนองรับนั้น คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่าผู้เสนอตายหรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถ
[เลขมาตรา ๑๖๙ วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ ๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. ๒๕๓๕]
มาตรา ๓๖๑ อันสัญญาระหว่างบุคคลซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทางนั้น ย่อมเกิดเป็นสัญญาขึ้นแต่เวลาเมื่อคำบอกกล่าวสนองไปถึงผู้เสนอ
ถ้าตามเจตนาอันผู้เสนอได้แสดง หรือตามปกติประเพณีไม่จำเป็นจะต้องมีคำบอกกล่าวสนองไซร้ ท่านว่าสัญญานั้นเกิดเป็นสัญญาขึ้นในเวลาเมื่อมีการอันใดอันหนึ่งขึ้น อันจะพึงสันนิษฐานได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาสนองรับ
มาตรา ๓๖๒ บุคคลออกโฆษณาให้คำมั่นว่าจะให้รางวัลแก่ผู้ซึ่งกระทำการอันใด ท่านว่าจำต้องให้รางวัลแก่บุคคลใด ๆ ผู้ได้กระทำการอันนั้น แม้ถึงมิใช่ว่าผู้นั้นจะได้กระทำเพราะเห็นแก่รางวัล
มาตรา ๓๖๓ ในกรณีที่กล่าวมาในมาตราก่อนนี้ เมื่อยังไม่มีใครทำการสำเร็จดังบ่งไว้นั้นอยู่ตราบใด ผู้ให้คำมั่นจะถอนคำมั่นของตนเสียโดยวิธีเดียวกับที่โฆษณานั้นก็ได้ เว้นแต่จะได้แสดงไว้ในโฆษณานั้นว่าจะไม่ถอน
ถ้าคำมั่นนั้นไม่อาจจะถอนโดยวิธีดังกล่าวมาก่อน จะถอนโดยวิธีอื่นก็ได้ แต่ถ้าเช่นนั้นการถอนจะเป็นอันสมบูรณ์ใช้ได้เพียงเฉพาะต่อบุคคลที่รู้
ถ้าผู้ให้คำมั่นได้กำหนดระยะเวลาให้ด้วยเพื่อทำการอันบ่งนั้นไซร้ ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ให้คำมั่นได้สละสิทธิที่จะถอนคำมั่นนั้นเสียแล้ว
มาตรา ๓๖๔ ถ้าบุคคลหลายคนกระทำการอันบ่งไว้ในโฆษณา ท่านว่าเฉพาะแต่คนที่ทำได้ก่อนใครหมดเท่านั้น มีสิทธิจะได้รับรางวัล
ถ้าบุคคลหลายคนกระทำการอันนั้นได้พร้อมกัน ท่านว่าแต่ละคนมีสิทธิจะได้รับรางวัลเป็นส่วนแบ่งเท่า ๆ กัน แต่ถ้ารางวัลนั้นมีสภาพแบ่งไม่ได้ก็ดี หรือถ้าตามข้อความแห่งคำมั่นนั้น บุคคลแต่คนเดียวจะพึงรับรางวัลก็ดี ท่านให้วินิจฉัยด้วยวิธีจับสลาก
บทบัญญัติดังกล่าวมาในวรรคทั้งสองข้างต้นนั้น ท่านมิให้ใช้บังคับถ้าในโฆษณานั้นแสดงเจตนาไว้เป็นอย่างอื่น
มาตรา ๓๖๕ คำมั่นจะให้รางวัลอันมีความประสงค์เป็นการประกวดชิงรางวัลนั้น จะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อได้กำหนดระยะเวลาไว้ในคำโฆษณาด้วย
การที่จะตัดสินว่าผู้ประกวดคนไหนได้กระทำสำเร็จตามเงื่อนไขในคำมั่นภายในเวลากำหนดหรือไม่ก็ดี หรือตัดสินในระหว่างผู้ประกวดหลายคนนั้นว่าคนไหนดีกว่ากันอย่างไรก็ดี ให้ผู้ชี้ขาดซึ่งได้ระบุชื่อไว้ในโฆษณานั้นเป็นผู้ตัดสิน หรือถ้ามิได้ระบุชื่อผู้ชี้ขาดไว้ ก็ให้ผู้ให้คำมั่นเป็นผู้ตัดสิน คำตัดสินอันนี้ย่อมผูกพันผู้ที่เกี่ยวข้องด้วยทุกฝ่าย
ถ้าได้คะแนนทำดีเสมอกัน ท่านให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา ๓๖๔ วรรค ๒ มาใช้บังคับ แล้วแต่กรณี
การโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ทำขึ้นประกวดนั้น ผู้ให้คำมั่นจะเรียกให้โอนแก่ตนได้ต่อเมื่อได้ระบุไว้ในโฆษณาว่าจะพึงโอนเช่นนั้น
มาตรา ๓๖๖ ข้อความใด ๆ แห่งสัญญาอันคู่สัญญาแม้เพียงฝ่ายเดียวได้แสดงไว้ว่าเป็นสาระสำคัญอันจะต้องตกลงกันหมดทุกข้อนั้น หากคู่สัญญายังไม่ตกลงกันได้หมดทุกข้ออยู่ตราบใด เมื่อกรณีเป็นที่สงสัย ท่านนับว่ายังมิได้มีสัญญาต่อกัน การที่ได้ทำความเข้าใจกันไว้เฉพาะบางสิ่งบางอย่าง ถึงแม้ว่าจะได้จดลงไว้ก็หาเป็นการผูกพันไม่
ถ้าได้ตกลงกันว่าสัญญาอันมุ่งจะทำนั้นจะต้องทำเป็นหนังสือไซร้ เมื่อกรณีเป็นที่สงสัย ท่านนับว่ายังมิได้มีสัญญาต่อกันจนกว่าจะได้ทำขึ้นเป็นหนังสือ
มาตรา ๓๖๗ สัญญาใดคู่สัญญาได้ถือว่าเป็นอันได้ทำกันขึ้นแล้ว แต่แท้จริงยังมิได้ตกลงกันในข้อหนึ่งข้อใดอันจะต้องทำความตกลงให้สำเร็จ ถ้าจะพึงอนุมานได้ว่า ถึงหากจะไม่ทำความตกลงกันในข้อนี้ได้ สัญญานั้นก็จะได้ทำขึ้นไซร้ ท่านว่าข้อความส่วนที่ได้ตกลงกันแล้วก็ย่อมเป็นอันสมบูรณ์
มาตรา ๓๖๘ สัญญานั้นท่านให้ตีความไปตามความประสงค์ในทางสุจริต โดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วย
0 ความคิดเห็น