สารบาญ : ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
(ปรับปรุงล่าสุด)
--------------------------
ภาค 1 ข้อความเบื้องต้น
ลักษณะ 2 อำนาจพนักงานสอบสวนและศาล
ลักษณะ 3 การฟ้องคดีอาญาและคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา
ลักษณะ 4 หมายเรียกและหมายอาญา
หมวด 2 หมายอาญา
ลักษณะ 5 จับ ขัง จำคุก ค้น ปล่อยชั่วคราว
ภาค 2 สอบสวน
ลักษณะ 2 การสอบสวน
ภาค 3 วิธีพิจารณาในศาลชั้นต้น
ภาค 4 อุทธรณ์และฎีกา
ลักษณะ 1 อุทธรณ์
ลักษณะ 2 ฎีกา
ภาค 5 พยานหลักฐาน
ภาค 6 การบังคับตามคำพิพากษาและค่าธรรมเนียม
ภาค 7 อภัยโทษ เปลี่ยนโทษหนักเป็นเบา และลดโทษ มาตรา 259 - 267
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เหตุผลในการประกาศใช้
---------------------------------
พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ. 2477
พระราชบัญญัติ
ให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
พุทธศักราช 2477
-------------------------
ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
(ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร
ลงวันที่ 7 มีนาคม พุทธศักราช 2477)
อนุวัตน์จาตุรนต์
อาทิตย์ทิพอาภา
เจ้าพระยายมราช
ตราไว้ ณ วันที่ 5 มิถุนายน พุทธศักราช 2478
เป็นปีที่ 2 ในรัชกาลปัจจุบัน
โดยที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติว่าเป็นการสมควรที่จะประกาศใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
จึ่งมีพระบรมราชโองการ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า “พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พุทธศักราช 2477”
มาตรา 2 ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา 3 ให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาตามที่ตราไว้ต่อท้ายพระราชบัญญัตินี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พุทธศักราช 2478 เป็นต้นไป
ให้ศาลและเจ้าพนักงานทั้งหลายผู้ดำเนินคดีอาญาตลอดราชอาณาจักร ปฏิบัติการตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ เว้นแต่ศาลซึ่งมีวิธีพิจารณาพิเศษไว้ต่างหาก
คดีทั้งหลายซึ่งค้างอยู่ในศาลก่อนวันใช้ประมวลกฎหมายนี้ ให้บังคับตามกฎหมายซึ่งใช้อยู่ก่อนวันใช้ประมวลกฎหมายนี้จนกว่าคดีนั้น ๆ จะถึงที่สุด
มาตรา 4 ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 3 ตั้งแต่วันใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานี้สืบไป ให้ยกเลิกมาตรา 14, 16 และมาตรา 87 ถึง 96 ในกฎหมายลักษณะอาญา พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาความมีโทษสำหรับใช้ไปพลางก่อน ร.ศ. 115 และบรรดากฎหมาย กฎและข้อบังคับอื่น ๆ ในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในประมวลกฎหมายนี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับประมวลกฎหมายนี้
มาตรา 5 ให้ประธานศาลฎีกา นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
ให้ประธานศาลฎีกามีอำนาจออกข้อบังคับ และนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมีอำนาจออกกฎกระทรวง เพื่อวางระเบียบการงานตามหน้าที่ให้การดำเนินคดีอาญาเป็นไปโดยเรียบร้อย ทั้งนี้ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของตน
ข้อบังคับหรือกฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา
นายกรัฐมนตรี
----------------------------
พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2548
พระราชบัญญัติ
ให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
(ฉบับที่ 2)
พ.ศ. 2548
-------------------------
ภูมิพลอดุลเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2548
เป็นปีที่ 61 ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พุทธศักราช 2477
พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 31 มาตรา 35 และมาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2548”
มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พุทธศักราช 2477 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 5 ให้ประธานศาลฎีกา นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
ให้ประธานศาลฎีกามีอำนาจออกข้อบังคับ และนายรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมีอำนาจออกกฎกระทรวง เพื่อวางระเบียบการงานตามหน้าที่ให้การดำเนินคดีอาญาเป็นไปโดยเรียบร้อย ทั้งนี้ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของตน
ข้อบังคับหรือกฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้”
มาตรา 4 บรรดากฎกระทรวงซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พุทธศักราช 2477 ที่ใช้บังคับอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปโดยอนุโลมเพียงเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พุทธศักราช 2477 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ จนกว่าจะมีการออกข้อบังคับหรือกฎกระทรวงขึ้นใหม่ใช้บังคับแทน
มาตรา 5 ให้ประธานศาลฎีกา นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 275 กำหนดให้สำนักงานศาลยุติธรรมเป็นหน่วยงานอิสระขึ้นตรงต่อประธานศาลฎีกา และโดยที่พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ได้กำหนดให้สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นส่วนราชการที่อยู่ในบังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นส่วนราชการที่อยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี ดังนั้น สมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พุทธศักราช 2477 โดยกำหนดเพิ่มเติมให้ประธานศาลฎีกาและนายกรัฐมนตรีรักษาการในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของตน เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
----------------------------
0 ความคิดเห็น