หมวด 4 การสละมรดกและอื่น ๆ
-------------------------
มาตรา 1610 ถ้ามรดกตกทอดแก่ผู้เยาว์ หรือบุคคลวิกลจริต หรือบุคคลผู้ไม่สามารถจะจัดทำการงานของตนเองได้ตามความหมายแห่งมาตรา 32 แห่งประมวลกฎหมายนี้ และบุคคลนั้นยังไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรม หรือผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์ เมื่อผู้มีส่วนได้เสีย หรือพนักงานอัยการร้องขอ ก็ให้ศาลตั้งผู้ปกครอง ผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์แล้วแต่กรณี
มาตรา 1611 ทายาทซึ่งเป็นผู้เยาว์ บุคคลวิกลจริตหรือบุคคลผู้ไม่สามารถจะจัดทำการงานของตนเองได้ตามความหมายแห่งมาตรา 32 แห่งประมวลกฎหมายนี้ จะทำการดังต่อไปนี้ไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับความยินยอมของบิดามารดา ผู้ปกครอง ผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์ แล้วแต่กรณี และได้รับอนุมัติจากศาลแล้วคือ
(1) สละมรดก
(2) รับมรดกอันมีค่าภาระติดพันหรือเงื่อนไข
มาตรา 1612 การสละมรดกนั้น ต้องแสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ
มาตรา 1613 การสละมรดกนั้น จะทำแต่เพียงบางส่วน หรือทำโดยมีเงื่อนไข หรือเงื่อนเวลาไม่ได้
การสละมรดกนั้น จะถอนเสียมิได้
มาตรา 1614 ถ้าทายาทสละมรดกด้วยวิธีใดโดยที่รู้อยู่ว่าการที่ทำเช่นนั้นจะทำให้เจ้าหนี้ของตนเสียเปรียบ เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะร้องขอให้เพิกถอนการสละมรดกนั้นเสียได้ แต่ความข้อนี้มิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่สละมรดกนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย แต่หากกรณีเป็นการสละมรดกโดยเสน่หา เพียงแต่ทายาทผู้สละมรดกเป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้ว ที่จะขอเพิกถอนได้
เมื่อได้เพิกถอนการสละมรดกแล้ว เจ้าหนี้จะร้องขอให้ศาลสั่ง เพื่อให้ตนรับมรดกแทนที่ทายาทและในสิทธิของทายาทนั้นก็ได้
ในกรณีเช่นนี้ เมื่อได้ชำระหนี้ของทายาทนั้นให้แก่เจ้าหนี้แล้ว ถ้าส่วนของทายาทนั้นยังมีเหลืออยู่อีก ก็ให้ได้แก่ผู้สืบสันดานของทายาทนั้น หรือทายาทอื่นของเจ้ามรดก แล้วแต่กรณี
มาตรา 1615 การที่ทายาทสละมรดกนั้น มีผลย้อนหลังไปถึงเวลาที่เจ้ามรดกตาย
เมื่อทายาทโดยธรรมคนใดสละมรดก ผู้สืบสันดานของทายาทคนนั้นสืบมรดกได้ตามสิทธิของตน และชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากับส่วนแบ่งที่ผู้สละมรดกนั้นจะได้รับ แต่ผู้สืบสันดานนั้นต้องไม่ใช่ผู้ที่บิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้อนุบาลแล้วแต่กรณี ได้บอกสละมรดกโดยสมบูรณ์ในนามของผู้สืบสันดานนั้น
มาตรา 1616 ถ้าผู้สืบสันดานของผู้สละมรดกได้มรดกมาดังกล่าวไว้ในมาตรา 1615 แล้ว ผู้ที่ได้สละมรดกนั้นไม่มีสิทธิในส่วนทรัพย์สินอันผู้สืบสันดานของตนได้รับมรดกมา ในอันที่จะจัดการและใช้ดังที่ระบุไว้ในบรรพ 5 ลักษณะ 2 หมวด 3 แห่งประมวลกฎหมายนี้ และให้ใช้มาตรา 1548 บังคับโดยอนุโลม
มาตรา 1617 ผู้รับพินัยกรรมคนใดสละมรดก ผู้นั้นรวมตลอดทั้งผู้สืบสันดานไม่มีสิทธิจะรับมรดกที่ได้สละแล้วนั้น
มาตรา 1618 ถ้าทายาทโดยธรรมผู้ที่ได้สละมรดกไม่มีผู้สืบสันดานที่จะรับมรดกได้ หรือผู้รับพินัยกรรมได้สละมรดก ให้ปันส่วนแบ่งของผู้ที่ได้สละมรดกนั้น ๆ แก่ทายาทอื่นของเจ้ามรดกต่อไป
มาตรา 1619 ผู้ใดจะสละหรือจำหน่ายจ่ายโอนโดยประการใด ซึ่งสิทธิอันหากจะมีในภายหน้าในการสืบมรดกผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นไม่ได้
-------------------------
0 ความคิดเห็น