ลักษณะ 1 หลักทั่วไป
-------------------------
มาตรา 1 ในประมวลกฎหมายนี้ ถ้าคำใดมีคำอธิบายไว้แล้ว ให้ถือตามความหมายดังได้อธิบายไว้ เว้นแต่ข้อความในตัวบทจะขัดกับคำอธิบายนั้น
มาตรา 2 ในประมวลกฎหมายนี้
(1) “ศาล” หมายความถึงศาลยุติธรรมหรือผู้พิพากษา ซึ่งมีอำนาจทำการอันเกี่ยวกับคดีอาญา
(2) “ผู้ต้องหา” หมายความถึงบุคคลผู้ถูกหาว่าได้กระทำความผิด แต่ยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล
(3) “จำเลย” หมายความถึงบุคคลซึ่งถูกฟ้องยังศาลแล้วโดยข้อหาว่าได้กระทำความผิด
(4) “ผู้เสียหาย” หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6
(5) “พนักงานอัยการ” หมายความถึงเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ฟ้องผู้ต้องหาต่อศาล ทั้งนี้ จะเป็นข้าราชการในกรมอัยการหรือเจ้าพนักงานอื่นผู้มีอำนาจเช่นนั้นก็ได้
(6) “พนักงานสอบสวน” หมายความถึงเจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายให้มีอำนาจและหน้าที่ทำการสอบสวน
(7) “คำร้องทุกข์” หมายความถึงการที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่ามีผู้กระทำความผิดขึ้น จะรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ตามซึ่งกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย และการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ
(8) “คำกล่าวโทษ” หมายความถึงการที่บุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ ว่ามีบุคคลรู้ตัวหรือไม่ก็ดี ได้กระทำความผิดอย่างหนึ่งขึ้น
(9) “หมายอาญา” หมายความถึงหนังสือบงการที่ออกตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้สั่งให้เจ้าหน้าที่ทำการจับ ขัง จำคุก หรือปล่อยผู้ต้องหา จำเลย หรือนักโทษ หรือให้ทำการค้น รวมทั้งสำเนาหมายจับหรือหมายค้นอันได้รับรองว่าถูกต้อง และคำบอกกล่าวทางโทรเลขว่าได้ออกหมายจับหรือหมายค้นแล้ว ตลอดจนสำเนาหมายจับหรือหมายค้นที่ได้ส่งทางโทรสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทอื่น ทั้งนี้ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 77
(10) “การสืบสวน” หมายความถึงการแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐานซึ่งพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจได้ปฏิบัติไปตามอำนาจและหน้าที่ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน และเพื่อที่จะทราบรายละเอียดแห่งความผิด
(11) “การสอบสวน” หมายความถึงการรวบรวมพยานหลักฐานและการดำเนินการทั้งหลายอื่นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ทำไปเกี่ยวกับความผิดที่กล่าวหา เพื่อที่จะทราบข้อเท็จจริงหรือพิสูจน์ความผิดและเพื่อจะเอาตัวผู้กระทำผิดมาฟ้องลงโทษ
(12) “การไต่สวนมูลฟ้อง” หมายความถึงกระบวนไต่สวนของศาลเพื่อวินิจฉัยถึงมูลคดีซึ่งจำเลยต้องหา
(13) “ที่รโหฐาน” หมายความถึงที่ต่าง ๆ ซึ่งมิใช่ที่สาธารณสถานดังบัญญัติไว้ในกฎหมายลักษณะอาญา
(14) “โจทก์” หมายความถึงพนักงานอัยการ หรือผู้เสียหายซึ่งฟ้องคดีอาญาต่อศาล หรือทั้งคู่ในเมื่อพนักงานอัยการและผู้เสียหายเป็นโจทก์ร่วมกัน
(15) “คู่ความ” หมายความถึงโจทก์ฝ่ายหนึ่งและจำเลยอีกฝ่ายหนึ่ง
(16) “พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ” หมายความถึงเจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายให้มีอำนาจและหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน ให้รวมทั้งพัศดี เจ้าพนักงานกรมสรรพสามิต กรมศุลกากร กรมเจ้าท่า พนักงานตรวจคนเข้าเมือง และเจ้าพนักงานอื่น ๆ ในเมื่อทำการอันเกี่ยวกับการจับกุมปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมาย ซึ่งตนมีหน้าที่ต้องจับกุมหรือปราบปราม
(17) “พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่” หมายความถึง เจ้าพนักงานดังต่อไปนี้
(ก) ปลัดกระทรวงมหาดไทย
(ข) รองปลัดกระทรวงมหาดไทย
(ค) ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย
(ฆ) ผู้ช่วยปลัดกระทรวงมหาดไทย
(ง) อธิบดีกรมการปกครอง
(จ) รองอธิบดีกรมการปกครอง
(ฉ) ผู้อำนวยการกองการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง
(ช) หัวหน้าฝ่ายและหัวหน้างานในกองการสอบสวนและนิติการกรม การปกครอง
(ซ) ผู้ตรวจราชการกรมการปกครอง
(ฌ) ผู้ว่าราชการจังหวัด
(ญ) รองผู้ว่าราชการจังหวัด
(ฎ) ปลัดจังหวัด
(ฏ) นายอำเภอ
(ฐ) ปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ
(ฑ) อธิบดีกรมตำรวจ
(ฒ) รองอธิบดีกรมตำรวจ
(ณ) ผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ
(ด) ผู้บัญชาการตำรวจ
(ต) รองผู้บัญชาการตำรวจ
(ถ) ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจ
(ท) ผู้บังคับการตำรวจ
(ธ) รองผู้บังคับการตำรวจ
(น) หัวหน้าตำรวจภูธรจังหวัด
(บ) รองหัวหน้าตำรวจภูธรจังหวัด
(ป) ผู้กำกับการตำรวจ
(ผ) ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดเขต
(ฝ) รองผู้กำกับการตำรวจ
(พ) รองผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดเขต
(ฟ) สารวัตรใหญ่ตำรวจ
(ภ) สารวัตรตำรวจ
(ม) ผู้บังคับกองตำรวจ
(ย) หัวหน้าสถานีตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นนายร้อยตำรวจตรีหรือเทียบเท่านายร้อยตำรวจตรีขึ้นไป
(ร) หัวหน้ากิ่งสถานีตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นนายร้อยตำรวจตรี หรือเทียบเท่านายร้อยตำรวจตรีขึ้นไป
ทั้งนี้ หมายความรวมถึงผู้รักษาการแทนเจ้าพนักงานดังกล่าวแล้ว แต่ผู้รักษาการแทนเจ้าพนักงานใน (ม) (ย) และ (ร) ต้องมียศตั้งแต่ชั้นนายร้อยตำรวจตรีหรือเทียบเท่านายร้อยตำรวจตรีขึ้นไปด้วย
(18) “สิ่งของ” หมายความถึงสังหาริมทรัพย์ใด ซึ่งอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีอาญาได้ ให้รวมทั้งจดหมาย โทรเลขและเอกสารอย่างอื่น ๆ
(19) “ถ้อยคำสำนวน” หมายความถึงหนังสือใดที่ศาลจดเป็นหลักฐานแห่งรายละเอียดทั้งหลายในการดำเนินคดีอาญาในศาลนั้น
(20) “บันทึก” หมายความถึงหนังสือใดที่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจดไว้เป็นหลักฐานในการสอบสวนความผิดอาญา รวมทั้งบันทึกคำร้องทุกข์และคำกล่าวโทษด้วย
(21) “ควบคุม” หมายความถึงการคุมหรือกักขังผู้ถูกจับโดยพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจในระหว่างสืบสวนและสอบสวน
(22) “ขัง” หมายความถึงการกักขังจำเลยหรือผู้ต้องหาโดยศาล
มาตรา 3 บุคคลดังระบุในมาตรา 4, 5 และ 6 มีอำนาจจัดการต่อไปนี้แทนผู้เสียหายตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ
(1) ร้องทุกข์
(2) เป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญา หรือเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ
(3) เป็นโจทก์ฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา
(4) ถอนฟ้องคดีอาญาหรือคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา
(5) ยอมความในคดีความผิดต่อส่วนตัว
มาตรา 4 ในคดีอาญาซึ่งผู้เสียหายเป็นหญิงมีสามี หญิงนั้นมีสิทธิฟ้องคดีได้เองโดยมิต้องได้รับอนุญาตของสามีก่อน
ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 5 (2) สามีมีสิทธิฟ้องคดีอาญาแทนภริยาได้ ต่อเมื่อได้รับอนุญาตโดยชัดแจ้งจากภริยา
มาตรา 5 บุคคลเหล่านี้จัดการแทนผู้เสียหายได้
(1) ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล เฉพาะแต่ในความผิดซึ่งได้กระทำต่อผู้เยาว์หรือผู้ไร้ความสามารถซึ่งอยู่ในความดูแล
(2) ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาเฉพาะแต่ในความผิดอาญา ซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้
(3) ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่น ๆ ของนิติบุคคล เฉพาะความผิดซึ่งกระทำลงแก่นิติบุคคลนั้น
มาตรา 6 ในคดีอาญาซึ่งผู้เสียหายเป็นผู้เยาว์ไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรม หรือเป็นผู้วิกลจริตหรือคนไร้ความสามารถไม่มีผู้อนุบาล หรือซึ่งผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาลไม่สามารถจะทำการตามหน้าที่โดยเหตุหนึ่งเหตุใด รวมทั้งมีผลประโยชน์ขัดกันกับผู้เยาว์หรือคนไร้ความสามารถนั้น ๆ ญาติของผู้นั้น หรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องอาจร้องต่อศาลขอให้ตั้งเขาเป็นผู้แทนเฉพาะคดีได้
เมื่อได้ไต่สวนแล้วให้ศาลตั้งผู้ร้องหรือบุคคลอื่น ซึ่งยินยอมตามที่เห็นสมควรเป็นผู้แทนเฉพาะคดี เมื่อไม่มีบุคคลใดเป็นผู้แทนให้ศาลตั้งพนักงานฝ่ายปกครองเป็นผู้แทน
ห้ามมิให้เรียกค่าธรรมเนียมในเรื่องขอตั้งเป็นผู้แทนเฉพาะคดี
มาตรา 7 ในการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาคดีที่นิติบุคคลเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย ให้ออกหมายเรียกผู้จัดการหรือผู้แทนอื่น ๆ ของนิติบุคคลนั้น ให้ไปยังพนักงานสอบสวนหรือศาล แล้วแต่กรณี
ถ้าผู้จัดการหรือผู้แทนของนิติบุคคลนั้นไม่ปฏิบัติตามหมายเรียก จะออกหมายจับผู้นั้นมาก็ได้ แต่ห้ามมิให้ใช้บทบัญญัติว่าด้วยปล่อยชั่วคราว ขังหรือจำคุกแก่ผู้จัดการหรือผู้แทนนิติบุคคล ในคดีที่นิติบุคคลนั้นเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย
มาตรา 7/1 ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาซึ่งถูกควบคุมหรือขังมีสิทธิแจ้งหรือขอให้เจ้าพนักงานแจ้งให้ญาติหรือผู้ซึ่งผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาไว้วางใจทราบถึงการถูกจับกุมและสถานที่ที่ถูกควบคุมในโอกาสแรกและให้ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหามีสิทธิดังต่อไปนี้ด้วย
(1) พบและปรึกษาผู้ซึ่งจะเป็นทนายความเป็นการเฉพาะตัว
(2) ให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำตนได้ในชั้นสอบสวน
(3) ได้รับการเยี่ยมหรือติดต่อกับญาติได้ตามสมควร
(4) ได้รับการรักษาพยาบาลโดยเร็วเมื่อเกิดการเจ็บป่วย
ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจซึ่งรับมอบตัวผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหามีหน้าที่แจ้งให้ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหานั้นทราบในโอกาสแรกถึงสิทธิตามวรรคหนึ่ง
มาตรา 8 นับแต่เวลาที่ยื่นฟ้องแล้ว จำเลยมีสิทธิดังต่อไปนี้
(1) ได้รับการพิจารณาคดีด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรม
(2) แต่งทนายความแก้ต่างในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง หรือพิจารณาในศาลชั้นต้นตลอดจนชั้นศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา
(3) ปรึกษาทนายความหรือผู้ซึ่งจะเป็นทนายความเป็นการเฉพาะตัว
(4) ตรวจดูสิ่งที่ยื่นเป็นพยานหลักฐาน และคัดสำเนาหรือถ่ายรูปสิ่งนั้น ๆ
(5) ตรวจดูสำนวนการไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาของศาล และคัดสำเนาหรือขอรับสำเนาที่รับรองว่าถูกต้องโดยเสียค่าธรรมเนียม เว้นแต่ศาลจะมีคำสั่งให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมนั้น
(6) ตรวจหรือคัดสำเนาคำให้การของตนในชั้นสอบสวนหรือเอกสารประกอบคำให้การของตน
ถ้าจำเลยมีทนายความ ทนายความนั้นย่อมมีสิทธิเช่นเดียวกับจำเลยดังกล่าวมาแล้วด้วย
เมื่อพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลแล้ว ให้ผู้เสียหายมีสิทธิตามวรรคหนึ่ง (6) เช่นเดียวกับจำเลยด้วย
มาตรา 9 บันทึกต้องระบุสถานที่ วันเดือนปีที่ทำ นาม และตำแหน่งของเจ้าพนักงานผู้ทำ
เมื่อเจ้าพนักงานทำบันทึกโดยรับคำสั่งจากศาลหรือโดยคำสั่งหรือคำขอของเจ้าพนักงานอื่น ให้เจ้าพนักงานนั้นกล่าวไว้ด้วยว่าได้รับคำสั่งหรือคำขอเช่นนั้น และแสดงด้วยว่าได้ทำไปอย่างใด
ให้เจ้าพนักงานผู้ทำบันทึกลงลายมือชื่อของตนในบันทึกนั้น
มาตรา 10 ถ้อยคำสำนวนต้องระบุชื่อศาล สถานที่ และวันเดือนปีที่จด ถ้าศาลจดถ้อยคำสำนวนตามคำสั่งหรือประเด็นของศาลอื่น ให้กล่าวเช่นนั้น และแสดงด้วยว่าได้ทำไปอย่างใด
ผู้พิพากษาที่จดถ้อยคำสำนวนต้องลงลายมือชื่อของตนในถ้อยคำสำนวนนั้น
มาตรา 11 บันทึกหรือถ้อยคำสำนวนนั้นให้เจ้าพนักงานหรือศาลอ่านให้ผู้ให้ถ้อยคำฟัง ถ้ามีข้อความแก้ไข ทักท้วง หรือเพิ่มเติม ให้แก้ให้ถูกต้องหรือมิฉะนั้นก็ให้บันทึกไว้ และให้ผู้ให้ถ้อยคำลงลายมือชื่อรับรองว่าถูกต้องแล้ว
ถ้าบุคคลที่ต้องลงลายมือชื่อในบันทึกหรือถ้อยคำสำนวนไม่สามารถหรือไม่ยอมลงให้บันทึกหรือรายงานเหตุนั้นไว้
มาตรา 12 เอกสารซึ่งศาลหรือเจ้าพนักงานเป็นผู้ทำคำร้องทุกข์ คำกล่าวโทษ คำให้การจำเลยหรือคำร้องซึ่งยื่นต่อเจ้าพนักงานหรือศาล จักต้องเขียนด้วยน้ำหมึกหรือพิมพ์ดีดหรือพิมพ์ ถ้ามีผิดที่ใดห้ามมิให้ลบออก ให้เพียงแต่ขีดฆ่าคำผิดนั้นแล้วเขียนใหม่ ผู้พิพากษา เจ้าพนักงานหรือบุคคลผู้แก้ไขเช่นนั้นต้องลงนามย่อรับรองไว้ที่ข้างกระดาษ
ถ้อยคำตกเติมในเอกสารดังบรรยายในมาตรานี้ต้องลงนามย่อของผู้พิพากษา เจ้าพนักงานหรือบุคคลผู้ซึ่งตกเติมนั้นกำกับไว้
มาตรา 12 ทวิ ในการร้องทุกข์ การสอบสวน การไต่สวนมูลฟ้อง และการพิจารณา ถ้าบทบัญญัติใดกำหนดให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์เข้าร่วมด้วยแล้ว นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ดังกล่าวจะต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ให้นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ตามวรรคหนึ่งได้รับค่าตอบแทนตามระเบียบที่กระทรวงยุติธรรมกำหนดโดยได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง
มาตรา 13 การสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้อง หรือพิจารณา ให้ใช้ภาษาไทย แต่ถ้ามีความจำเป็นต้องแปลภาษาไทยท้องถิ่นหรือภาษาถิ่นหรือภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทยหรือต้องแปลภาษาไทยเป็นภาษาไทยท้องถิ่นหรือภาษาถิ่นหรือภาษาต่างประเทศให้ใช้ล่ามแปล
ในกรณีที่ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา จำเลย หรือพยานไม่สามารถพูดหรือเข้าใจภาษาไทยหรือสามารถพูดหรือเข้าใจเฉพาะภาษาไทยท้องถิ่นหรือภาษาถิ่น และไม่มีล่าม ให้พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการหรือศาลจัดหาล่ามให้โดยมิชักช้า
ในกรณีที่ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา จำเลย หรือพยานไม่สามารถพูดหรือได้ยิน หรือสื่อความหมายได้ และไม่มีล่ามภาษามือ ให้พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือศาล จัดหาล่ามภาษามือให้หรือจัดให้ถาม ตอบ หรือสื่อความหมายโดยวิธีอื่นที่เห็นสมควร
เมื่อมีล่ามแปลคำให้การ คำพยานหรืออื่น ๆ ล่ามต้องแปลให้ถูกต้อง ล่ามต้องสาบานหรือปฏิญาณตนว่าจะทำหน้าที่โดยสุจริตใจ จะไม่เพิ่มเติมหรือตัดทอนสิ่งที่แปล
ให้ล่ามลงลายมือชื่อในคำแปลนั้น
ให้พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือศาลสั่งจ่ายค่าป่วยการ ค่าพาหนะเดินทาง และค่าเช่าที่พักแก่ล่ามที่จัดหาให้ตามมาตรานี้ ตามระเบียบที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด หรือสำนักงานศาลยุติธรรม แล้วแต่กรณี กำหนดโดยได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง
มาตรา 13 ทวิ (ยกเลิก)
มาตรา 14 ในระหว่างทำการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา ถ้ามีเหตุควรเชื่อว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้วิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ให้พนักงานสอบสวนหรือศาลแล้วแต่กรณี สั่งให้พนักงานแพทย์ตรวจผู้นั้นเสร็จแล้วให้เรียกพนักงานแพทย์ผู้นั้นมาให้ถ้อยคำหรือให้การว่าตรวจได้ผลประการใด
ในกรณีที่พนักงานสอบสวนหรือศาลเห็นว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้วิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ให้งดการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาไว้จนกว่าผู้นั้นหายวิกลจริตหรือสามารถจะต่อสู้คดีได้ และให้มีอำนาจส่งตัวผู้นั้นไปยังโรงพยาบาลโรคจิตหรือมอบให้แก่ผู้อนุบาล ข้าหลวงประจำจังหวัดหรือผู้อื่นที่เต็มใจรับไปดูแลรักษาก็ได้ตามแต่จะเห็นสมควร
กรณีที่ศาลงดการไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาดังบัญญัติไว้ในวรรคก่อน ศาลจะสั่งจำหน่ายคดีเสียชั่วคราวก็ได้
มาตรา 15 วิธีพิจารณาข้อใดซึ่งประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้
-----------------------
0 ความคิดเห็น