คำนามในภาษาอังกฤษ มีกี่ประเภท ทำหน้าที่อะไร

ไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ ตอนที่ 3 เรื่อง คำนาม(Nouns)

          สำหรับตอนที่ 3 นี้ ผมก็จะขยายความต่อจากตอนที่ 2 โดยจะพูดถึงคำนาม(Noun) ในภาษาอังกฤษ มีกี่ประเภทกันแน่ และคำนามนั้นสามารถทำหน้าที่อะไรได้บ้าง จะมีคำศัพท์ทางไวยากรณ์มากพอสมควรที่เราจะต้องทำความรู้จัก เพื่อจะได้เข้าใจในเนื้อหาที่ซับซ้อนมากขึ้น ครับ

Nouns (คำนาม)

นิยาม
Nouns หมายถึง คำที่แสดงถึง บุคคล สถานที่ หรือ สิ่งของ (Person, Place, Thing)
ในประโยค คำนามจะทำหน้าที่ดังนี้
  1. Subject (ทำหน้าที่เป็นประธาน)
  2. Object of a verb (ทำหน้าที่เป็นกรรมของกริยา)
  3. Object of preposition (ทำหน้าที่เป็นกรรมของบุพบท)
Nouns ที่ตามหลังกริยาเชื่อม(Linking Verbs)  เราเรียกว่า  Predicate Nouns

Subject (ประธาน)

ประธานในประโยค หมายถึง คน หรือ สิ่งของ ที่เป็นผู้กระทำ(Doing)  ปฏิบัติ(Performing) หรือ ควบคุม (Controlling) การกระทำของกริยา
ตัวอย่างประโยค
• “Mary reads a book every week.” (แมรี่อ่านหนังสือทุกสัปดาห์)
ในประโยคนี้ Mary เป็นผู้ปฏิบัติการกระทำ(performing the action) ของกริยา read

Objects (กรรม)

กรรมในทางไวยากรณ์ มี 3 บทบาท ดังนี้
  1. Direct Object of a verb หมายถึง กรรมตรงของกริยา
  2. Indirect Object of a verb หมายถึง กรรมรองของกริยา
  3. Object of a Preposition หมายถึง กรรมของบุพบท

Direct Objects (กรรมตรง)

Direct Objects (กรรมตรง) หมายถึง ส่วนที่รับผลการกระทำของกริยาในประโยค หรือ อนุประโยค
ยกตัวอย่างประโยค
• “Mary reads a book every week.”
ในประโยคนี้ เราจะเห็นว่า book เป็นนามที่รับกรรมโดยตรงจากกริยา read

Indirect Objects (กรรมรอง)

กรรมรอง หมายถึง คน หรือ สิ่งของ ที่รับผลจากกรรมตรงของกริยา
ยกตัวอย่าง
• “I sent the company an application for the job.” (ฉันได้ส่งใบสมัครงานให้กับบริษัท)
จากประโยคนี้ เราจะพบว่า
application(ใบสมัคร) เป็นกรรมตรงของกริยา sent
ในขณะที่ company (บริษัท) เป็นผู้รับผลจากกรรมตรงอีกที
ดังนั้น company เราเรียกว่าเป็นกรรมรอง นั่นเอง
*** โดยปกติ ในภาษาอังกฤษจะนิยมวางกรรมรอง ไว้ก่อน กรรมตรง นะครับ

Objects of Prepositions (กรรมของบุพบท)

คำนามที่ถูกใช้ให้อยู่หลังคำบุพบท เพื่อสร้างบุพบทวลี(Prepositional Phrases) ดังนั้น นามที่เป็นส่วนหนึ่งของบุพบทวลี เราเรียกว่า กรรมของบุพบท หรือ Object of the preposition
ยกตัวอย่าง 1
• “Your backpack is under the table.”  (กระเป๋าเป้ของคุณอยู่ใต้โต๊ะ)
ในประโยคนี้ มีบุพบท คือ under
ส่วน table เป็นกรรมของ under
ดังนั้น table เราเรียกว่า เป็นกรรมของบุพบท หรือ Object of the preposition
แต่ถ้ารวมกัน under the table เราจะเรียกว่า บุพบทวลี(Prepositional Phrases) ครับ
*** อ่านดี ๆ ครับ ถ้าแยกส่วน เรียกอะไร ถ้ารวมกัน เรียกว่า อะไร
ยกตัวอย่าง 2
• “I am looking for work.” (ฉันกำลังมองหางาน)
จะเห็นว่า work  เป็น  Object of the preposition (กรรมของบุพบท)
ในขณะที่วลี for work เราเรียกว่า Prepositional phrase (บุพบทวลี)

Predicate Nouns (คำนามที่เป็นภาคแสดง)

คำว่า Predicate Nouns นั้น เราจะใช้เรียกคำนามที่ตามหลังกริยาเชื่อม(Linking Verbs) ในตำรา อาจจะเรียกว่า Predicative Nouns หมายถึง ส่วนที่ใช้ในกรณีที่ต้องการเปลี่ยนชื่อประธานใหม่หรือเป็นการระบุประธานซ้ำ (rename or re-identify the subject)
ตัวอย่างประโยค
• “Love is a virtue.” (ความรักเป็นความบริสุทธิ์)
ในประโยคนี้ a virtue เราเรียกว่า Predicate Nouns เพราะเป็นเพียงการเปลี่ยนชื่อ ประธาน Love เท่านั้น
หมายเหตุ
กริยาเชื่อม(Linking Verbs) ยังมีอีกหลายตัว เช่น am, is, was, were, has been, are, smell, remain, seem, sound, stay, continue, become,  grow เป็นต้น ซึ่งจะลงรายละเอียดในบทอื่น ๆ

Categories of Nouns (ประเภทของคำนาม)

คำนามแบ่งออกเป็นหลายประเภท ในบทนี้ จะกล่าวโดยย่อ ๆ มีดังนี้

1. Common Nouns (นามทั่วไป)

หมายถึง คำนามที่ระบุ คน สถานที่ สิ่งของ โดยทั่วไป(ไม่เจาะจง) เราจะเรียกว่า Common Nouns

2. Proper Nouns (นามเฉพาะ)

หมายถึง คำนามที่ระบุ คน สถานที่ สิ่งของ แต่มีอันเดียวในโลก จะขึ้นต้นด้วยอักษรตัวใหญ่ ไม่ว่าจะอยู่ในส่วนใหนของประโยค
ยกตัวอย่างประโยค 1
“He sat on the chair.” (เขาได้นั่งบนเก้าอี้)
คำว่า chair เป็น Common Nouns
ยกตัวอย่างประโยค 2
Prince William is adored by many.” (เจ้าชายวิลเลี่ยมเป็นที่รักของหลาย ๆ คน)
คำว่า Prince William เป็น Proper Nouns เพราะมีเพียงพระองค์เดียวในโลกนี้

3. Nouns of Address (นามที่เน้นย้ำ)

คำว่า Nouns of Address จะนำมาใช้ในกรณีที่ต้องการเน้นย้ำโดยตรงในขณะที่พูด (Direct Speech) เพื่อต้องการระบุเฉพาะต่อบุคคล หรือกลุ่ม เพื่อต้องการความสนใจจากคนที่เราพูดด้วย คล้าย ๆ กับประโยคอุทาน
ตัวอย่างประโยค
• “James, I need you to help me with the dishes.” (เจมส์ ฉันอยากให้คุณช่วยฉันล้างจาน)
ประโยคนี้ เป็นการพูดย้ำชื่อเจมส์ (ขึ้นเสียงสูง) เพื่อให้เจมส์ สนใจในสิ่งที่เราพูดกับเขา
• “Can I have some money, Mom?” (ขอเงินหน่อย ได้ไหมครับ คุณแม่)
• “Sorry, Mr. President, I didn’t see you there.” (ขออภัย ท่านประธานาธิบดี ผมไม่ได้พบคุณที่นั่น)

4. Concrete Nouns (นามที่มองเห็นหรือสัมผัสได้)

Concrete Nouns หมายถึง บรรดาคำนามที่เราสามารถเห็น หรือจับต้องได้(can be seen or touched) และ Proper Nouns ก็จัดเป็น Concrete Nouns เช่น
table - โต๊ะ
rocks - หิน
lake - ทะเลสาป
countries - ประเทศต่าง ๆ
people - คน
Africa - ทวีปอัฟริกา
MacBook - แมคบุ๊ค
Jonathan - โจนาธาน (ชื่อเฉพาะ)
เป็นต้น

5. Abstract Nouns (นามที่มองไม่เห็น: จับต้องไม่ได้)

Abstract Nouns หมายถึง บรรดาคำนาม ที่มองด้วยตาไม่เห็น แบ่งเป็นกลุ่มต่าง ๆ เช่น
แนวคิด - concepts
ความคิด - ideas
ความรู้สึก -  feelings
ลักษณะ - characteristics
 คุณสมบัติ - คุณสมบัติ
เป็นต้น
ยกตัวอย่าง คำนามที่มองไม่เห็น
love - ความรัก
hate - ความเกลียด
decency - ความสุภาพ
emotion - อารมณ์

6. Countable nouns (คำนามที่สามารถนับได้)

Countable Nouns หมายถึง คำนามที่สามารถนับเป็นหน่วยย่อยได้ นับเป็นตัวเลขได้
โดยจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ
1. Single Countable Nouns (นามนับได้ รูปเอกพจน์) เช่น
a cup - หนึ่งถ้วย
a phone - โทรศัพท์ 1 เครื่อง
2. Plural Countable Nouns (นามนับได้ รูปพหูพจน์) เช่น
two cups - สองถ้วย
10 phones - โทรศัพท์ 10 เครื่อง

7. Uncountable Nouns (นามนับเป็นหน่วยย่อยไม่ได้)

Uncountable Nouns บางที่เรียก Non- Count Nouns  บางตำราเรียก Mass Nouns หมายถึง คำนามที่ไม่สามารถแยกออกเป็นหน่วยมานับได้ ดังนั้นนามกลุ่มนี้ เราจะนำ Article (a/an) มานำหน้าไม่ได้ และไม่สามารถมาทำเป็นรูปพหูพจน์ได้ (ก็เพราะมันนับไม่ได้ไงครับ)
ตัวอย่างประโยค
1. “Would you like tea?”
(คุณต้องการน้ำชาไหม)
2. “Would you like a tea?” ✖     (tea เป็นคำนามที่นับไม่ได้ ห้ามใส่ a)
3. “Do you have any information?” 
(คุณมีข้อมูลไหม)
4. “Do you have an information?” ✖    (คำว่า information เป็นคำนามที่นับไม่ได้)
หมายเหตุ คำนามที่นับไม่ได้มีอีกมากมาย ในกรณีนี้ ผมยกตัวอย่างพอเข้าใจโดยสังเขปเท่านั้น

8. Collective Nouns (นามที่มีลักษณะเป็นกลุ่ม)

Collective Nouns หมายถึง คำนามที่อ้างอิงถึงกลุ่มของคน สัตว์ สิ่งของ หลาย ๆ หน่วยมารวมกัน แต่ยังเป็นคำนามเอกพจน์ในประโยค เพราะว่าหมายถึง กลุ่มเดียว หรือ ทั้งหมด
 ยกตัวอย่างประโยค
• “The flock of birds flew south for the winter.” (ฝูงของนกบินไปทิศใต้ในฤดูหนาว)
คำว่า flock แปลว่า ฝูง ถือเป็นนามเอกพจน์อยู่ แม้ว่านกจะมีหลายตัว
Collective Nouns ยังมีอีกหลายคำ ในที่นี้ผมจะยกตัวอย่างพอเข้าใจเท่านั้น

9. Attributive Nouns (Noun Adjuncts)

Attributive Nouns หรือบางตำราเรียกว่า  noun adjuncts หมายถึง คำนามที่ใช้เพื่อขยายคำนามอื่น ทำให้เกิดวลีที่เรียกว่า นามผสม (Compound Noun)
ยกตัวอย่างประโยค
• “The boy played with his toy soldier.” (เด็กชายคนนั้นได้เล่นกับทหารที่เป็นของเล่น ของเขา)
จะเป็นว่า soldier เป็นคำนาม แปลว่า ทหาร
ส่วนคำว่า toy เป็นคำนาม แปลว่า ของเล่นเด็ก
อธิบายดังนี้
- soldier เป็น Noun
- toy เป็น Attributive Nouns (เพราะเป็นคำนามที่ไปขยายคำนามอื่น)
- toy soldier เป็น Compound Noun (นามผสม)
- toy soldier หมายถึง ตุ๊กตายางที่เป็นทหารสำหรับเด็กเล่น
สรุปว่า Attributive Nouns หมายถึง คำนามที่อยู่ข้างหน้านามคำอื่น นั่นเองครับ

10. Compound Nouns (คำนามผสม)

Compound Noun คือ คำนามที่สร้างจากคำนามตั้งแต่ 2 คำขึ้นไป แต่นับเป็นหน่วยเดียว โดยปกติแล้ว Compound Noun มักสร้างจาก noun + noun หรือ adjective + noun   แต่รวมเป็นคำเดียวกัน
ยกตัวอย่าง
• water + bottle = water bottle (ขวดที่ใช้สำหรับใส่น้ำ)
• dining + room = dining room (ห้องที่ใช้สำหรับรับประทานอาหาร)
• back + pack = backpack (กระเป๋าที่คุณใช้สวมไว้ที่ด้านหลัง)
• police + man = policeman (เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เป็นผู้ชาย)

Noun Phrases (วลีที่เป็นคำนาม)

Noun Phrase หมายถึง กลุ่มของคำ ตั้งแต่ 2 คำขึ้นไป ที่ทำหน้าที่เทียบเท่าคำนาม 1 คำ ในประโยค โดย Noun Phrase ประกอบด้วยคำนามหลัก 1 คำ กับคำอื่น ที่ขยายนามนั้น
ตัวอย่างประโยค
• “He brought the shovel with the blue handle.”
(เขาได้นำเสียมที่มีด้ามสีน้ำเงินนั้นมา)
อธิบายดังนี้
คำว่า shovel เป็นคำนามหลัก(Head Noun)
กลุ่มคำ the shovel with the blue handle (เสียมที่มีด้ามจับสีน้ำเงิน) เรียกว่า Noun Phrase
คำว่า the เป็นส่วนขยาย(modifier) ของ shovel
วลี with the blue handle เป็นส่วนขยาย(modifier) ของ shovel  เช่นกัน
สรุปสั้น ๆ เรื่อง Noun Phrase
1. มีคำนามหลัก 1 คำ
2. มีส่วนขยายคำนามหลัก ซึ่งส่วนขยาย อาจอยู่ทั้งด้านหน้า หรือ อยู่ด้านหลังของนามหลัก
3. เมื่อประกอบกันเป็นก้อนเดียวกันแล้ว ถือว่าเป็นคำนามหน่วยเดียว

          วันนี้ ผมพอแค่นี้ก่อนครับ แต่ยังไม่จบนะครับ เรื่อง คำนาม ที่กล่าวมาเป็นเพียงสังเขปเท่านั้น รายละเอียดยังมีให้อ่านกันอีกมาก ซึ่งผมจะขยายความไปเรื่อย ๆ ตามลำดับของเนื้อหา (จะไม่ข้ามบท) สำหรับโพสท์นี้ จะมีคำศัพท์ทางไวยากรณ์อังกฤษอยู่หลายคำ นักเรียนต้องจำดี ๆ เดี๋ยวจะอ่านบทต่อไปไม่เข้าใจครับ  สวัสดีครับ

เรียบเรียงโดย
  • ติวเตอร์แบงค์
  • สถาบันติว PERFECT ซ.รามคำแหง 43/1
  • ติวเตอร์ประจำวิชา ENG, ENS, CEN2101, CEN2102, APR2101
  • ติดต่อติวเตอร์ โทร. 081-7269394
เอกสารอ้างอิง
  1. Brinton, Laurel J. & Donna M. Brinton. 2010. The linguistic structure of Modern English, 2nd edn. Amsterdam: John Benjamins Publishing Company.
  2. Hopper, Paul J. 1999. A short course in grammar. New York: W. W. Norton & Company.
  3. Huddleston, Rodney. 1984. Introduction to the grammar of English. Cambridge: Cambridge University Press.
  4. Peter Huring. 2016. Complete English Grammar Rules - Examples, Exceptions & Everything You Need to Master Proper Grammar by Farlex International.
ปรับปรุงแก้ไขล่าสุดเมื่อ 25 พ.ย. 2562